โลกจะมีปรากฏการณ์หายากทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว ที่จะมีดวงจันทร์ดวงที่ 2 หรือ มินิมูน ร่วมโคจรรอบโลกเกือบ 2 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่วันอาทิตย์เป็นต้นไป
มินิมูน ที่ว่านี้คือดาวเคราะห์น้อย 2024 PT มีขนาดเท่ากับรถบัสโรงเรียน ความยาว 10 เมตร ซึ่งเคลื่อนผ่านโลกในวันอาทิตย์ และถูกแรงโน้มถ่วงของโลกเหนี่ยวรั้งไว้ให้โครจรรอบโลกเป็นการชั่วคราว เป็นเวลาเกือบ 57 วัน
เมื่อเดือนสิงหาคม คาร์ลอส เดอ ลา ฟูเอนเต้ มาร์คอส และราอูล เดอ ลา ฟูเอนเต้ นักดาราศาสตร์จาก Complutense University of Madrid ค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 เป็นครั้งแรก ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในแอฟริกาใต้ และตีพิมพ์การค้นพบนี้ในวารสาร American Astronomical Society
ริชาร์ด บินเซล นักดาราศาสตร์จาก MIT ให้ทัศนะกับเอพีว่า มินิมูนขาจรนี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งกว่าที่เราคิด ครั้งล่าสุดที่พบนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 และว่า “ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้บ่อน แต่เราแทบไม่เห็นมันเพราะมันมีขนาดเล็กมาก ๆ และยากในการตรวจพบ .. แต่เครื่องมือในการสำรวจดวงดาวของเราในปัจจุบันนี้มาถึงจุดที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ได้เป็นประจำแล้ว”
คาร์ลอส เดอ ลา ฟูเอนเต้ มาร์คอส ระบุผ่านทางอีเมลว่า มินิมูนดวงนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือผ่านกล้องโทรทรรศน์แบบมือสมัครเล่น แต่จะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่สำหรับการวิจัยในการชมดาวเคราะห์ดวงนี้
อย่างไรก็ตาม บิลเซล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ บอกว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าหินอวกาศนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยหรือว่าเป็น “ชิ้นส่วนของดวงจันทร์ที่ระเบิดออกมา”
มินิมูน หรือ ดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 จะไม่โคจรรอบโลกโดยทั้งหมด และในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ มินิมูนจะอำลาจากโลก และเดินทางฉายเดี่ยวไปในจักรวาล ก่อนที่คาดกันว่าจะเดินทางกลับมาเฉียดโลกอีกครั้งในปี 2055 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า
- ที่มา: เอพี