ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อุปกรณ์ ‘ฝึกการสั่งงานสมอง’ ช่วยบรรเทา ‘โรคเสียงดังในหู’


ภาพแอนิเมชั่นของการทำงานของ Neuromodulation
ภาพแอนิเมชั่นของการทำงานของ Neuromodulation

“โรคเสียงรบกวนในช่องหู” (Tinnitus) ไม่ได้เกิดจากสาเหตุภายนอก โดยอาการของผู้ป่วยมักจะได้ยินเสียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งสร้างความทรมานและความน่ารำคาญ รวมไปถึงบางกรณี ยังกระทบการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้ให้การรับรองอุปกรณ์ที่ช่วย “ฝึกการรับรู้ของสมอง” เพื่อลดผลกระทบจากอาการเสียงดังในช่องหูได้บ้างแล้ว

รอยเตอร์รายงานว่า มีการประเมินว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในสหรัฐฯ มีจำนวนนับล้านคน

และแม้จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด อุปกรณ์อย่าง “ลินเนียร์” (Lenire) ที่ FDA ให้การรับรองแล้วอาจเป็นทางเลือกเพื่อช่วยบรรเทาอาการเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นได้

การทำงานของอุปกรณ์นี้เรียกว่าเป็น “การปรับการทำงานของเซลล์ประสาท ผ่านสองกระบวนการ” โดยกระบวนการแรกคือ การใช้อุปกรณ์ส่งเสียงแหลมสูงและทุ้มต่ำผ่านหูฟัง ร่วมกับกระบวนการที่ 2 ซึ่งก็คือ การใช้คลื่นพลังงานไฟฟ้าอ่อน ๆ ส่งไปยังชิ้นส่วนที่ใส่ไว้ในช่องปาก

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กระบวนดังกล่าวจะทำให้การเชื่อมต่อภายในสมองที่มีต่อเสียงรบกวนปรับลดลงและสมองจะถูกดึงความสนใจจากเสียงในช่องหู

ชาห์ซาด โคเฮน นักโสตสัมผัสวิทยา
ชาห์ซาด โคเฮน นักโสตสัมผัสวิทยา

ชาห์ซาด โคเฮน นักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) อธิบายว่า “สมองมีพลังในการเยียวยาตัวเอง และเรากำลังใช้ประโยชน์จากพลังนั้น โดยส่งสัญญาณชี้นำสองประเภทที่แตกต่างกัน ทั้งกระตุ้นไปที่ลิ้นและกระตุ้นการได้ยิน”

โคเฮนทำงานร่วมกับผู้ป่วยโรคเสียงดังในช่องหูมานานราวสิบปีแล้ว และจากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาด้วยอุปกรณ์ Lenire ประมาณ 100 คน พบว่า 87 คนมีอาการที่ดีขึ้น

เจฟฟ์ มัทชาน วัย 60 ปี คือ ผู้ป่วยที่รักษากับโคเฮน และบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้อุปกรณ์มา แม้อาการหูอื้อจะไม่หายไปทั้งหมด แต่ก็รบกวนเขาน้อยลง โดยเขาเองก็ได้ยินเรื่องราวจากคนอื่น ๆ มาด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านไป สมองจะเริ่มเพิกเฉยมากขึ้นต่อเสียงรบกวน

เจฟฟ์ มัทชาน -- ผู้ป่วยโรคเสียงรบกวนในช่องหู
เจฟฟ์ มัทชาน -- ผู้ป่วยโรคเสียงรบกวนในช่องหู

มัทชานบอกว่า สมองจะโปรแกรมเส้นทางการสื่อสารขึ้นมาใหม่ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงรบกวนมากนัก หรือไม่ เสียงดังกล่าวอาจจะหายไปเลย ซึ่งตัวเขาเองอยากให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ก็คิดว่า การที่อาการหูอื้อไม่เป็นอุปสรรคและรบกวนสมาธิตลอดเวลาก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

ผลลัพธ์จากการทดลองครั้งแรกของ Lenire ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 326 คนที่ได้รับการรักษาระยะเวลา 12 สัปดาห์ แสดงให้เห็นว่า 80% ของผู้เข้าร่วมการทดลองรายงานว่า ความรุนแรงของอาการหูอื้ออยู่ในระดับที่ดีขึ้น

อุปกรณ์ "Lenire"
อุปกรณ์ "Lenire"

รอสส์ โอนีล ผู้ก่อตั้งบริษัท นิวโรโมด ดิไวเซส (Neuromod Devices) ที่อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ Lenire ระบุว่า “มันไม่ใช่การรักษา เราระมัดระวังอย่างมากในการเลือกใช้คำพูด ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาอาการนี้”

โอนีล เสริมว่า อุปกรณ์ Lenire มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องมือชิ้นแรกและชิ้นเดียวที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA โดยมีข้อมูลทางการแพทย์รับรอง ดังนั้นจึงเป็นก้าวที่สำคัญต่อการเยียวยาผู้ป่วยโรคเสียงดังในช่องหู

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG