นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 บรรดาบริษัทน้ำมันต่าง ๆ ได้ส่งล็อบบียิสต์มาร่วมงานมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการถกเถียงว่าโลกควรเลิกใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างถาวรหรือไม่
การประชุม COP28 จัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. โดยมีผู้ร่วมงานราว 70,000 คน ทั้งผู้นำประเทศ นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรมต่าง ๆ
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การตอบคำถามว่า จำเป็นต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลทั้งหมดหรือไม่?
ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ปี 2023 นี้มีแนวโน้มที่จะเป็นปีที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ด้วยปริมาณ 40,900 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่คือราว 36,800 ล้านตัน มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงจากข้อมูลวิจัยของ Global Carbon Project
ด้านนักวิจัยขององค์กรพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม Kick Big Polluters Out กล่าวว่า มีผู้ร่วมประชุมมากกว่า 2,400 คนที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
เอริค เอ็นจูกุนา สมาชิกกลุ่ม Fridays for Future กล่าวว่า "จำนวนดังกล่าวมากกว่าผู้แทนของกลุ่มชนพื้นเมืองเกิน 7 เท่า และเพิ่มขึ้นจากจำนวนล็อบบียิสต์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเมื่อการประชุมครั้งที่แล้ว (COP27) ซึ่งมีจำนวน 636 คน"
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า จำเป็นต้องมีการลดก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกลง 43% ในช่วง 6 ปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของสนธิสัญญากรุงปารีสที่ให้จำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม
แต่จากแนวโน้มการปล่อยมลพิษในขณะนี้ พบว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนจะเพิ่มอีก 9% ในช่วง 6 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมประชุมหลายคนชี้ว่า การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ และควรให้เชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผสมด้านพลังงานโลกต่อไป ควบคู่ไปกับมาตรการใหม่อื่น ๆ เช่น ตลาดคาร์บอน และการดักจับคาร์บอน เป็นต้น
- ที่มา: วีโอเอ