อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นในวันอังคารที่ 4 ก.ค. จนกลายเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 44 ปี หรืออาจนานกว่านั้น ขณะที่วันพุธก็อาจสร้างสถิติที่ร้อนขึ้นเป็นสถิติใหม่อีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นกรณีล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลก
อุณหภูมิเฉลี่ยของทั่วโลกในวันอังคารเพิ่มขึ้นแตะระดับ 17.18 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงที่สุดเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลเมื่อปี 1979 อ้างอิงจากอุปกรณ์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศโลก Climate Reanalyzer ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเมน (University of Maine)
เมื่อวันจันทร์ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 17.01 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถิติใหม่เช่นกันก่อนที่จะถูกอุณหภูมิในวันอังคารทำลายสถิติไป และคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในวันพุธอาจสูงกว่าวันอังคาร นั่นหมายความว่าจะเป็นการทำลายสถิติสูงสุดสามวันซ้อน
ซาราห์ แคพนิก หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA กล่าวว่า แม้ตัวเลขนี้จะยังไม่ใช่ตัวเลขอย่างเป้นทางการ "แต่ก็ช่วยชี้ให้เห็นว่าเราอยู่ตรงจุดไหน" และแม้ข้อมูลดังกล่าวจะย้อนกลับไปถึงแค่ปี 1979 แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยและข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ ก็ดูเหมือนว่าวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา อาจเป็นวันที่ร้อนที่สุดในรอบหลายร้อยปี
ผู้เชี่ยวชาญของ NOAA ผู้นี้ชี้ว่า วันที่ร้อนที่สุดก่อนหน้านี้อยู่ในเดือนสิงหาคม ปี 2021
อุณหภูมิในหลายประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในสัปดาห์นี้ รวมทั้งที่มณฑลควิเบค แคนาดา และที่เปรู ขณะที่กรุงปักกิ่งของจีนมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส 9 วันติดต่อกัน
หลายเมืองในสหรัฐฯ มีคำเตือนระวังอากาศร้อนจัด รวมทั้งที่รัฐโอเรกอน แคลิฟอร์เนีย นิวเม็กซิโก เท็กซัส และฟลอริดา
สภาพอากาศร้อนจัดถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ที่อาจเกิดอาการฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด รวมทั้งอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากความร้อน
- ที่มา: เอพี