ที่บริเวณแนวชายฝั่งของอ่าวเดลาแวร์ ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ติดมหาสมุทรแอตแลนติก แมงดาทะเลจำนวนมากจะถูกแรงลึกลับของกระแสน้ำดึงให้มารวมตัวกันและวางไข่ตามแนวชายฝั่งแห่งนี้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางไข่ของแมงดาทะเลจำนวนมากที่สุดในโลก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมากมายจนทำให้นักอนุรักษ์ต่างออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสมดุลในธรรมชาติกันแล้ว
แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลยุคดึกดำบรรพ์ที่มีหัวใจเป็นท่อยาว มีสิบตา ใช้เหงือกในการขับเคลื่อน และมีกระดองที่มีลักษณะคล้ายกับรถถังจึงทำให้มันดูน่าพิศวง และแม้จะมีชื่อว่า Horseshoe Crab แต่พวกมันไม่ใช่ปู แต่เป็นสัตว์ขาปล้องอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเดียวกับสัตว์จำพวกแมงมุม แมงป่อง และเห็บ เป็นต้น
ลอว์เรนซ์ ไนลส์ จากกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Restoration Partnerships ซึ่งเฝ้าติดตามสอดส่องและผลักดันการอนุรักษ์การวางไข่ของประชากรแมงดาทะเลในบริเวณอ่าวเดลาแวร์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่มีอายุมากกว่า 400 ล้านปี และเรียกได้ว่า เก่าแก่ยิ่งกว่าไดโนเสาร์ แต่ในปัจจุบัน มีการจับแมงดาทะเลเพื่อรีดเอาเลือดของพวกมันเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสัตว์ทะเลยุคดึกดำบรรพ์นี้
ทั้งนี้ ทุก ๆ ปีแมงดาทะเลจะวางไข่เป็นกระจุก ๆ ละหลายพันฟองฝังอยู่บริเวณรอยระดับน้ำตามชายหาดต่าง ๆ แต่ก็จะมีจำนวนไม่น้อยที่ตัวไม่ได้ฟักออกมาเป็นตัว ก่อนที่ ซากไข่จะถูกคลื่นซัดกลับลงสู่มหาสมุทร
ส่วนที่อ่าวเดลาแวร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีไข่แมงดาทะเลอยู่ตามพื้นผิวชายหาด 100,000 ฟองต่อหนึ่งตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเดลาแวร์ แต่ตอนนี้กลับมีไข่อยู่แค่ประมาณ 10,000 ฟองต่อหนึ่งตารางเมตร ขณะที่ ไข่แมงดานั้นเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับเต่าทะเล นกพลัดถิ่น และนกนางนวล ทั้งยังเป็นอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนกหัวจุกแดง (Red Knot) ซึ่งเป็นนกชายฝั่งพลัดถิ่นสีเหมือนสนิม ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
ไนลส์อธิบายว่า "เมื่อไข่เหล่านี้อัดแน่นอูยู่บนพื้นผิวชายหาด ก็จะเป็นผลดีต่อระบบทางทะเล แต่จะมีความสำคัญมากเป็นพิเศษสำหรับนกชายฝั่งพลัดถิ่น ซึ่งมักจะหลบหนาวในอเมริกาใต้ ผสมพันธุ์ในอาร์กติก และมาที่อ่าวเดลาแวร์เพื่อฟื้นฟูตัวเอง ให้สามารถออกไปวางไข่และเลี้ยงลูกได้ ดังนั้นการออกลูก และความอยู่รอดของพวกมันจึงขึ้นอยู่กับปริมาณมากน้อยของไข่แมงดาทะเลในอ่าวเดลาแวร์ด้วย"
แม้ว่าสัตว์ทะเลชนิดนี้อาจไม่ได้ถูกพบอยู่ในเมนูของร้านอาหารในอเมริกาและยุโรป พวกมันก็มีมูลค่าทางการค้าอย่างมากมายมหาศาล เพราะมันเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สำคัญทางการแพทย์ โดยบรรดาบริษัทผู้ผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ต้องอาศัยเลือดสีน้ำเงินอันทรงคุณค่าของแมงดาทะเลในการทดสอบหาสารแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตราย
แอลเลน เบอร์เกนสัน นักวิทยาศาสตร์ในคณะที่ปรึกษาด้านแมงดาทะเล ของ Atlantic States Marine Fisheries Commission กล่าวว่า เลือดของแมงดาทะเลนั้นใช้ในการผลิตสารสกัด Limulus Amebocyte Lysate หรือ LAL เพื่อใช้ในการทดสอบหาสารพิษ endotoxin ในผลิตภัณฑ์ยาฉีดทุกชนิด
แต่การธุรกิจประมงจับแมงดาทะเลเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์กำลังทำให้นักเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์กังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลักดันให้มีการประกาศใช้มาตรฐานใหม่เพื่อการปกอนุรักษ์สัตว์ประเภทนี้แล้ว
นอรา แบลร์ ผู้จัดการฝ่ายควบคุมคุณภาพของ Charles River Laboratories ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิต LAL จากเลือดของแมงดาทะเลกล่าวว่า แนวทางการป้องกันแมงดาทะเลฉบับใหม่จะช่วยให้แมงดาทะเลที่ถูกรีดเลือดไปแล้วมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น แต่บรรดานักอนุรักษ์ที่พยายามอนุรักษ์พันธุ์นกซึ่งต้องพึ่งพาแมงดาทะเลที่มีจำนวนลดลงมาเป็นเวลาหลายปีต่างเกรงว่าการป้องกันเหล่านั้นจะยังไม่ครอบคลุมมากพอ
อย่างไรก็ดี ลอว์เรนซ์ ไนลส์ จากกลุ่มอนุรักษ์ Wildlife Restoration Partnerships กล่าวว่า ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของกฎเกณฑ์ที่ Atlantic State's Marine Fisheries Commission ประกาศใช้ไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความต้องการเพิ่มจำนวนการจับแมงดาทะเลขึ้นมาฆ่า
ไนลส์อธิบายว่า เมื่อฤดูใบไม้ร่วงของปีที่ผ่านมา เริ่มมีการขยายการจับตายแมงดาทะเลตัวเมียแล้วซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มพยายามต่อต้านอยู่
นักอนุรักษ์ผู้นี้กล่าวส่งท้ายด้วยว่า ความหนาแน่นของไข่แมงดาทะเลในอ่าวเดลาแวร์ในปัจจุบันยังห่างจากระดับในช่วงปี 1990 อย่างมาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการประเมินขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCU) ที่ขึ้นชื่อของแมงดาทะเลไว้ในรายชื่อสายพันธุ์ที่ “มีความอ่อนไหว” ที่จะสูญพันธ์ในการประเมินปี 2016 ไปแล้ว
- ที่มา: เอพี