ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่า ลูกเพนกวินจักรพรรดิหลายพันตัวจมน้ำตายในขั้วโลกใต้เมื่อปีที่แล้ว หลังจากเกิดเหตุแผ่นน้ำแข็งแยกออกจากทวีปแอนตาร์กติกา
ผลสำรวจของบริติชแอนตาร์กติก (British Antarctic Survey) ชี้ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าอาจมีลูกเพนกวินราว 10,000 ตัวที่ตายไปเมื่อปีที่แล้ว และกล่าวโทษว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกคือสาเหตุสำคัญของเหตุการณ์นี้
ทั้งนี้ เพนกวินจักรพรรดิ หรือ Emperor penguin คือเพนกวินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดา 18 สายพันธุ์เพนกวิน และยังเป็นหนึ่งในสัตว์จำพวกนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วย
นักวิทยาศาสตร์อังกฤษรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียมเซทิเนล-2 ของสหภาพยุโรป พบว่ามีลูกเพนกวินพันธุ์นี้ตายลงจำนวนมาก และงานวิจัยยังพบด้วยว่า 4 ใน 5 ของอาณานิคมของเพนกวินจักรพรรดิในแถบทะเลเบลลิงส์เฮาเซน ใกล้คาบสมุทรแอนตาร์กติก กำลังเผชิญหายนะเรื่องการขยายพันธุ์เพนกวิน
งานศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้วในวารสาร Communications Earth & Environment ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการรายงานเรื่องการล่มสลายด้านการขยายพันธุ์ของเพนกวินจักรพรรดิในดินแดนนี้
ปกติแล้ว เพนกวินจักรพรรดิจะผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกนกบนแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรซึ่งเชื่อมต่อกับแผ่นดินหรือแผ่นน้ำแข็งอื่น
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรละลายเร็วขึ้น เป็นเหตุให้ลูกเพนกวินที่ยังไม่โตเต็มวัยจมน้ำตาย เพราะเมื่อแผ่นน้ำแข็งแตกออกจากทวีปแอนตาร์กติกาเร็วเกินไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน ลูกนกเหล่านั้นอาจตกลงไปในทะเลและจมน้ำตายหรืออาจตายเพราะความหนาวเย็น
แมรี-แอนน์ ลีอา ศาสตราจารย์ด้านสัตว์น้ำและแอนตาร์กติก มหาวิทยาลัยแห่งแทสมาเนีย (University of Tasmania) กล่าวกับสื่อออสเตรเลียว่า การล่มสลายของการขยายพันธุ์เพนกวินในปีนี้อาจรุนแรงกว่าปีที่แล้ว
ปัจจุบัน เพนกวินจักรพรรดิได้รับการจัดให้เป็น "สายพันธุ์สัตว์ที่เผชิญการคุกคาม" ซึ่งนักวิจัยต่างเชื่อว่า เพนกวินพันธุ์นี้อาจสูญพันธุ์ได้ภายในเวลาสิ้นศตวรรษนี้เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
- ที่มา: วีโอเอ