วิวาทะว่าด้วยค่าตัวผู้ให้โอวาทบัณฑิตจบใหม่ในอเมริกา... แพงเกินไป? เหมาะสมหรือไม่?

Syracuse University Commencement

มีคำถามว่าการจ่ายเงินจำนวนมากให้กับองค์ปาฐกในงานประสาทปริญญา สมควรหรือไม่อย่างไร? และมหาวิทยาลัยเอาเงินมาจากไหน?

Your browser doesn’t support HTML5

Commencement Fee

เดือนพฤษภาคมในอเมริกา เป็นเดือนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดงานประสาทปริญญา โดยส่วนสำคัญที่เป็นประเพณีขาดไม่ได้ คือการเชิญองค์ปาฐกมาให้โอวาทแก่บัณฑิตจบใหม่ที่กำลังจะต้องออกไปเผชิญโลก

จากแง่มุมมองของผู้บริหาร การเชิญคนที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะในวงการใด เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงตามมาด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความทรงจำให้กับบัณฑิตจบใหม่ ประทับใจคนมีเงินที่อาจจะอยากบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย และอาจจูงใจนักศึกษาใหม่ด้วยได้

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ประธานาธิบดี Barack Obama ไปกล่าวปราศรัยที่งานแจกปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัย Rutgers ในรัฐนิวเจอร์ซี่ เมื่อเร็วๆ นี้ โดย Rutgers ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดเลยสำหรับการเชิญประธานาธิบดี แต่ Rutgers ต้องจ่ายนักข่าวชื่อดัง Bill Moyers ซึ่งขึ้นกล่าวปราศรัยต่อจากประธานาธิบดี Obama เป็นเงิน 35,000 ดอลลาร์

President Barack Obama waves as he arrives to deliver a commencement address at Rutgers graduation ceremonies, May 15, 2016, in Piscataway, N.J.

ในขณะที่มหาวิทยาลัย Houston ในรัฐเท็กซัส ต้องจ่ายค่าพูดให้กับดาราตุ๊กตาทอง Matthew McConaughey ในการแจกปริญญาบัตรปีที่แล้ว 166,000 ดอลลาร์ บวกค่าเดินทางและที่พักอีก 9,500 ดอลลาร์

และแม้ดาราหนังผู้นี้จะบริจาคค่าพูดให้กับองค์กรการกุศล แต่ก็มีคนตั้งคำถามว่า การจ่ายเงินจำนวนมากให้กับองค์ปาฐกในงานประสาทปริญญานี้ สมควรหรือไม่อย่างไร? และที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยเอาเงินมาจากไหน?

บางมหาวิทยาลัยใช้เงินงบประมาณ ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยบอกว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบุคคลภายนอก

แต่ในช่วงสองสามปีมานี้มีผู้สังเกตเห็นแนวโน้มใหม่ สำนักบริการจัดหาองค์ปาฐกบอกว่า มีคำขอองค์ปาฐกที่ต้องเสียเงินน้อยลง และจากจำนวนมหาวิทยาลัย 20 แห่งที่สำนักข่าว AP สอบถามไป มี 16 แห่งที่บอกว่าไม่ได้จ่ายค่าผู้พูดในปีนี้ ซึ่งรวมทั้ง Ryan Secrest พิธีกรชื่อดังของรายการแข่งขันร้องเพลงทางโทรทัศน์ ‘American Idol’ ที่ไปพูดที่มหาวิทยาลัย Georgia โรงเรียนเก่าของตน และ Sheryl Sandberg ผู้บริหารของ Facebook ซึ่งไปกล่าวปราศรัยให้ฟรีกับบัณฑิตจบใหม่ที่ UC Berkeley

รายงานข่าวของ AP ตั้งข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยที่ร่ำรวยมากๆ หรือมากที่สุด มักไม่ต้องจ่ายค่าพูด โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัย Ivy League ซึ่งไม่ขาดแคลนศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน หรือมีคนแย่งกันไปพูดให้ฟรี

Rock star and philanthropist Jon Bon Jovi performs a new song during graduation ceremonies at Rutgers University-Camden Thursday, May 21, 2015, in Camden, N.J.

ตัวอย่างเช่น ผู้กำกับหนังชื่อดัง Steven Spielberg จะไปเป็นองค์ปาฐกให้มหาวิทยาลัย Harvard ในปีนี้ และดาราใหญ่ Matt Damon จะไปพูดกับบัณฑิตจบใหม่ของ Massachusetts Institute of Technology ในงานประสาทปริญญา

Matt Damon ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในบทบาทภารโรงอัจฉริยะที่ MIT ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Good Will Hunting’ เมื่อปี ค.ศ. 1997

และก็มีมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่ต้องการตอบคำถามว่า เอาเงินจากไหนมาจ่ายองค์ปาฐก หรือแข่งขันออกแรงวิ่งหาคนมาพูด จึงตัดสินใจว่าไม่ต้องมีการให้โอวาทส่งบัณฑิตจบใหม่ออกไปเผชิญโลกกว้าง อย่างมหาวิทยาลัย Bradley ในรัฐ Illinois