สำนักข่าว Associated Press หรือเอพีของสหรัฐฯ เสนอรายงานเรื่องการโกงข้อสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรังสิต
บทความชี้ว่าเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีไฮเทคใช้ในการโกงสอบ
ผู้เข้าสอบสามคนถูกจับได้ขณะอยู่ในห้องสอบ โดยทั้งสามใช้กล้องที่ติดกับแว่นตาของตนแอบถ่ายรูปคำถามในข้อสอบและส่งต่อให้ผู้ช่วยที่รับจ้างมา ซึ่งผู้ช่วยส่งคำตอบไปที่สมาร์ทว้อทช์ของนักเรียนทั้งสาม
มหาวิทยาลัยรังสิตยกเลิกการสอบเข้าของทั้งสองคณะในวันเสาร์และวันอาทิตย์
สำนักข่าวเอพีกล่าวว่า การโกงสอบเป็นปัญหาที่มีมานานในประเทศไทย แต่การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยคล้ายกับภาพยนตร์สายลับเจมส์ บอนด์ ขับเน้นให้เห็นว่าพฤติกรรมลักษณะนี้เริ่มเกิดรูปแบบใหม่ขึ้น!
ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิต กิตติศักดิ์ ไตรพิพัฒพรชัย ให้สัมภาษณ์กับ Associated Press ว่า ตนยังไม่เคยเห็นการโกงสอบในระดับนี้ที่มีการใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าขนาดนี้ เขาบอกว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสอดส่องการทำสอบให้ใกล้ชิดมากขึ้น
ผอ. กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นักเรียนทั้งสามคนซื้อบริการโกงข้อสอบที่รับประกันผล 100% ราคาแปดแสนบาทจากสถาบันติวเข้ามหาวิทยาลัย
การโกงข้อสอบที่แยบยลขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามปรับตัวให้ทันกลเม็ดใหม่ๆ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้กล้องติดที่เพดานเหนือศีรษะผู้เข้าสอบ เพื่อจับตาอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกแบบหมวกกันการโกงสอบที่เป็นกระดาษ A4 สองแผ่นเย็บติดกันกับที่คาดหน้าผาก วิธีนี้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจะทำให้นักศึกษาแอบลอกข้อสอบคนข้างๆ ได้ยาก
ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์รูปอุปกรณ์ที่นักเรียนสามคนใช้โกงสอบบนเฟสบุ๊คของตน โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อและบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง
เอพีรายงานว่า ผู้ปกครองของหนึ่งในสามนักเรียนที่ถูกจับ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เป็นพ่อกล่าวว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการโกงสอบครั้งนี้
แต่ ผอ. กิตติศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรังสิตตั้งคำถามว่า นักเรียนมัธยมปลายทั่วไปจะเอาเงินแปดแสนบาทมาจากไหน เพื่อจ่ายขบวนการรับโกงข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย?
สำนักข่าว Associated Press บอกด้วยว่า เด็กไทยได้รับการอบรมเรื่องพฤติกรรมหลายประการ เช่นความสุภาพ อดทนอดกลั้น เคารพนอบน้อม และการเลี่ยงความขัดแย้งซึ่งหน้า
แต่นักการศึกษาชี้ว่า การโกงมีให้เห็นบ่อยครั้ง เพราะระบบการศึกษายกให้คะแนนสอบเป็นปัจจัยเดียวที่วัดความพร้อมของนักเรียนในการศึกษาต่อขั้นมหาวิทยาลัย
(รายงานโดย สำนักข่าวเอพี / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)