ลิ้งค์เชื่อมต่อ

New York Times วิเคราะห์กระบวนการรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในอเมริกา


นักศึกษาต่างชาติจำนวนมากมีคุณสมบัติไม่ได้มาตรฐานที่จะช่วยให้การศึกษาต่อในอเมริกาประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานและภาษา

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:44 0:00
Direct link

มหาวิทยาลัยในอเมริกาต้อนรับและแสวงหานักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท-เอก ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน และกระบวนการรับนักศึกษาเหล่านี้ก็แตกต่างกันอย่างมากด้วย

และบทความในหนังสือพิมพ์ The New York Times วิเคราะห์เหตุและผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้จากกระบวนที่ว่านี้ไว้เมื่อเร็วๆ นี้

โฆษณาเชิญชวนนักศึกษาในอินเดียให้สมัครไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Western Kentucky เมื่อไม่นานมานี้ ระบุทั้งความรวดเร็วในการพิจารณาใบสมัคร และทุนการศึกษามูลค่าสูงถึง 17,000 ดอลลาร์ ผลปรากฏว่ามีนักศึกษาสมัครมากกว่า 300 คน

อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยอมรับว่า นักศึกษาเหล่านี้มีจำนวนมากที่มีคุณสมบัติไม่ได้มาตรฐานที่จะช่วยให้การศึกษาต่อในอเมริกาประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานและภาษา

ในจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 132 คน ที่มาจากบริษัทนายหน้าหานักศึกษาและขึ้นทะเบียนเรียนที่ Western Kentucky มีถึง 106 คนได้คะแนนการทดสอบภาษาไม่ถึงมาตรฐานที่กำหนด บางคนไม่มีเอกสารรับรองด้านภาษาด้วยซ้ำไป และ 57 คนที่ขึ้นทะเบียนเรียน computer sciences ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต้องเข้าเรียนวิชาพื้นฐานซ่อม ก่อนจะเข้าเรียนวิชาในหลักสูตรปริญญาโทได้

มหาวิทยาลัย Western Kentucky ไม่ได้เป็นผู้จัดทำประกาศโฆษณาหรือดำเนินการแสวงหานักศึกษาในอินเดียเอง แต่ว่าจ้างบริษัท Global Tree Overseas Education Consultants ในอินเดียให้ทำงานนี้ โดย Global Tree จะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของค่าเล่าเรียนปีแรกของนักศึกษาที่ได้เข้าเรียนที่ Western Kentucky ซึ่งตกราวๆ 2,000 ดอลลาร์ต่อหัว

Gary Ransdell อธิการบดีของ Western Kentucky อธิบายที่มาที่ไปของการแสวงหานักศึกษาต่างชาติว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากจะเปิดหูเปิดตานักศึกษาใน Kentucky ให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมต่างชาติ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงหลายปีมานี้ งบประมาณที่รัฐ Kentucky จัดสรรให้มหาวิทยาลัยถดถอยลงทุกปี

การได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลของรัฐลดน้อยลง ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Western Kentucky เท่านั้น แต่กระทบกระเทือนมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วอเมริกา และทางออกทางหนึ่งคือการรับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเต็มอัตรา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของรัฐบาลสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และโครงการ Education USA ของกระทรวงฯ ห้ามการว่าจ้างบริษัทธุรกิจภายในอเมริกาให้ออกไปแสวงหานักศึกษาต่างชาติ

แต่ไม่มีกฎหมายห้ามการว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศ แม้จะมีความพยายามจากสมาคมที่ปรึกษาการรับนักศึกษาในอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน พยายามจะวางนโยบายห้ามการว่าจ้างบริษัทต่างชาติ แต่ไม่สำเร็จ

กลเม็ดที่บริษัทเหล่านี้นำมาใช้ในการจูงใจนักศึกษาต่างชาติมีหลากหลาย รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเดินทางไปที่บริษัทเพื่อพิจารณาใบสมัคร และตอบรับหรือปฏิเสธ รวมทั้งออกเอกสารขอวีซ่า หรือ I-20 ได้ในทันที

กระบวนการเช่นนี้ เรียกว่า “spot assessment”

ในขณะที่ประกาศโฆษณาอาจระบุชื่อมหาวิทยาลัยไม่ชัดเจน เช่นอ้างชื่อ มหาวิทยาลัย Purdue ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของอเมริกา แถมบอกไว้ด้วยว่า “คะแนนต่ำ ไม่ต้องวิตก” แต่ความจริงแล้ว เป็นมหาวิทยาลัย Purdue วิทยาเขต Calumet เป็นต้น

นักวิชาชีพที่ทำงานด้านการศึกษาระหว่างประเทศ อย่าง Dale Gough ผู้อำนวยการโครงการ International Education Services ของ American Association of Collegiate Registrars and Admission Officers วิตกว่า

การรับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือชักชวนให้นักศึกษาต่างชาติไปเข้าโรงเรียนที่ไม่เหมาะสม อาจทำลายค่านิยมสำหรับการศึกษาในอเมริกาได้ในที่สุด

XS
SM
MD
LG