กระทรวงศึกษาจีนเข้าคุมโรงเรียนกวดวิชา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้ปกครอง

Your browser doesn’t support HTML5

China Education

หลังจากที่จีนเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตมาสู่เศรษฐกิจภาคบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วนั้น ผู้ปกครองในประเทศจีนได้พบว่าหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตของบุตรหลานของตนคือการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียง และเรื่องดังกล่าวทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเติบโตขึ้นมาก

แต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมโรงเรียนกวดวิชาและเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้ปกครองบางคนเป็นกังวล

คุณเฮเลน กุย เป็นชนชั้นกลางชาวจีนผู้ทำงานกับบริษัทต่างชาติ เธอมีลูกสาวคนเดียวอายุ 10 ปีซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ชั้นประถม 5 แต่แม้จะยังอยู่ในโรงเรียนประถมลูกสาวของคุณเฮเลนก็ต้องใช้เวลาสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมงเพื่อกวดวิชาภาษาอังกฤษ, 3 ชั่วโมงสำหรับวิชาคณิตศาสตร์, 3 ชั่วโมงสำหรับการเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม และอีก 1 ชั่วโมงเพื่อกิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น การว่ายน้ำและเรียนเปียโน พร้อมทั้งอีกสัปดาห์ละ 90 นาทีเพื่อฝึกฝนการสนทนาภาษาอังกฤษแบบออนไลน์กับครูผู้สอนชาวต่างชาติด้วย

คุณเฮเลน กุย ประมาณว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการกวดวิชาและการเรียนหลักสูตรพิเศษเหล่านี้ตกปีละ 16,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 500,000 บาท ซึ่งแม้จะดูสูงแต่ก็จำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุตรสาวของเธอจะทำคะแนนได้ดีในโรงเรียนและทำคะแนนการทดสอบได้ดีเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งมีชื่อเสียงเพื่อให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ออกระเบียบใหม่ซึ่งเป็นข้อจำกัดเรื่องการเรียนพิเศษหรือการกวดวิชาของเด็กนักเรียน

และสำหรับพ่อแม่ชาวจีนแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นความพยายามเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลานขณะที่รัฐบาลจีนกำลังเปลี่ยนนโยบายและเรียกร้องให้ครอบครัวจีนมีบุตรเพิ่มขึ้นได้เป็นสองหรือสามคน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนประชากรในตลาดแรงงาน แต่สำหรับพ่อแม่บางคนเรื่องนี้เป็นการจำกัดโอกาสและจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านนี้ยิ่งสูงขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ประกาศตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อควบคุมโรงเรียนกวดวิชานอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายโดยให้เหตุผลกว้าง ๆ ว่า เพื่อลดภาระด้านวิชาการของนักเรียนรวมทั้งเพื่อควบคุมบริการกวดวิชาของภาคเอกชนทั้งในแง่เนื้อหา ตารางการสอน ราคาและคุณสมบัติของผู้สอนด้วย

แต่ผู้ปกครองซึ่งเป็นชนชั้นกลางของจีนอย่างคุณเฮเลน กุย กังวลว่า มาตรการควบคุมดังกล่าวจะทำให้โรงเรียนกวดวิชาของภาคเอกชนบางแห่งต้องปิดตัวลงและเธอรวมทั้งผู้ปกครองคนอื่นอีกหลายคนจะต้องจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับบริการกวดวิชาแบบตัวต่อตัว

เธอบอกด้วยว่า ปัญหาในขณะนี้ก็คือนักเรียนแต่ละคนจะถูกวัดประเมินจากคะแนนการสอบ ดังนั้นการจำกัดหรือควบคุมโรงเรียนกวดวิชาจะไม่สร้างผลเปลี่ยนแปลงอะไรตราบเท่าที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังมีการแข่งขันอย่างสูงและยังเน้นที่คะแนนทางวิชาการอยู่

ส่วนผู้ปกครองรายอื่นของจีนก็ได้แสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า นโยบายของรัฐบาลจีนขณะนี้อนุญาตให้เพียงครึ่งหนึ่งของนักเรียนจีนที่จบการศึกษาระดับมัธยมสามเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย โดยอีกครึ่งหนึ่งต้องไปเรียนต่อสายอาชีวะ และจากการกำหนดโควต้าดังกล่าวจะมีผู้ปกครองคนใดที่ต้องการให้ลูกหลานของตนเรียนสายอาชีวะเพราะส่วนใหญ่แล้วย่อมต้องการให้ทายาทของตระกูลได้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยกันทั้งสิ้น

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีนเมื่อปี 2016 นั้น ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาของจีนมีตลาดมูลค่าประมาณ 123,500 ล้านดอลลาร์ และจ้างงานผู้คนหลายหมื่นคน และสำหรับครอบครัวของชนชั้นกลางชาวจีนการส่งลูกหลานเข้าเรียนพิเศษและกวดวิชานั้นเป็นความจำเป็นของชีวิตเหมือนกับการตรวจสุขภาพประจำปีเลยทีเดียว

ตัวเลขของสมาคมสังคมศาสตร์นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2019 ระบุว่าการเลี้ยงลูกหนึ่งคนตั้งแต่เกิดจนถึงระดับมัธยมต้นต้องใช้เงินเฉลี่ยราว 130,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ประมาณ 60% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

และด้วยเหตุผลนี้คุณเฮเลน กุย จึงบอกว่า เธอกับสามีไม่มีแผนจะมีลูกคนที่สอง เพราะยิ่งลูกโตขึ้นก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นโดยครอบครัวส่วนใหญ่ที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ของจีนที่เธอรู้จักนั้นไม่มีใครอยากมีลูกคนที่สองหรือสามเลย เพราะการมีลูกคนเดียวก็เหนื่อยและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากพออยู่แล้ว

(ที่มา: VOA และ Reuters)