ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวส่งสัญญาณคลี่คลายบ้าง

ภาพผู้บริโภคชาวจีนที่ออกมาจับจ่ายหาซื้อเสื้อผ้าในตลาดค้าส่งแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2023 [REUTERS]

โรงงานต่าง ๆ ในจีนเริ่มยกระดับการผลิตของตน ขณะที่ ภาคการค้าปลีกเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งในแล้วในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามการเปิดเผยของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในวันศุกร์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นคืนชีพจากภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผ่านพ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ตามร้านค้าและภัตตาคารในจีนจะเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น ตัวเลขในรายงานล่าสุดของรัฐบาลจีนยังแสดงให้เห็นถึงภาวะความอ่อนแอที่ยังคงอยู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของจีน ในช่วงที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยังมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สูงและความต้องการจากผู้บริโภคที่ตกต่ำอยู่ โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า การลงทุนในภาคธุรกิจนี้ลดลง 8.8% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่หนักขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีมา

และเพื่อช่วยลดภาระของธนาคารต่าง ๆ ในประเทศ ธนาคารกลางของจีนประกาศเมื่อช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีว่า จะลดสัดส่วนการสำรองเงินของสถาบันการเงินทั้งหลายลง 0.25% ตั้งแต่วันศุกร์เป็นต้นไป

ธนาคารกลางของจีนกล่าวว่า การดำเนินแผนงานดังกล่าวจะช่วยให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มีเงินสดเหลือพอในมือ “เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวได้ และเพื่อคงไว้ซึ่งสภาพคล่องอันพอเพียงและเหมาะสมด้วย”

ทั้งนี้ รายงานของรัฐบาลจีนระบุว่า ยอดค้าปลีกของประเทศเพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนสิงหาคมจากปีก่อน เทียบกับการเพิ่มเพียง 2.5% ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ ยอดขายรถปรับขึ้น 5.1% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.5% ในเดือนที่แล้ว เทียบกับการเพิ่มขึ้น 3.7% ในเดือนก่อนหน้า

แฟ้มภาพ - บรรยากาศงาน World Robot Conference ที่จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2023 [AP]

ฟู่ หลิงฮุ่ย โฆษกของสำนักสถิติแห่งชาติจีน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “โดยรวมแล้ว ในเดือนสิงหาคมนั้น ดัชนีหลัก ๆ ต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจของชาติเริ่มฟื้นตัว พัฒนาการคุณภาพสูงก็มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างอย่างมั่นคง พร้อม ๆ กับปัจจัยบวกที่มีการสั่งสมเพิ่มขึ้น”

แต่โฆษกฟู่กล่าวเสริมว่า ยังมี “ปัจจัยภายนอกมากมายที่เกี่ยวกับการขาดเสถียรภาพและความไม่แน่นอน” และว่า ความต้องการภายในประเทศนั้นยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ ดังนั้น “พื้นฐานของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงต้องการการเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อไป”

อย่างไรก็ดี เทรนด์เศรษฐกิจจีนในเดือนสิงหาคมนั้นถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ ตามความเห็นของ จูเลียน เอฟแวนส์-พริตชาร์ด จาก Capital Economics

เอฟแวนส์-พริตชาร์ด ระบุในรายงานว่า “การสนับสนุนทางการคลังช่วยค้ำยันการลงทุน แต่จุดที่เจิดจ้าชัดเจนก็คือ การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการใช้จ่ายผู้บริโภค ที่ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนทั้งหลายอาจจะค่อย ๆ ผ่อนคลายความระมัดระวังของตนลงบ้างแล้ว”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 0.8% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี ซึ่งนับว่า ไม่สูงมากเมื่อพิจารณาการขยายตัว 2.2% ของไตรมาสที่ 1 จากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อแปลงเป็นอัตรารายปีแล้ว จะได้ตัวเลข 3.2% อันเป็นตัวเลขที่อยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

  • ที่มา: เอพี