ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิกฤติ 'ธนาคารเงา' สั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจแดนมังกร


The logo of Zhongrong Dingxin is seen on the office building of Zhongrong International Trust, a trust company partially owned by Zhongzhi Enterprise Group, in Beijing, Aug. 22, 2023
The logo of Zhongrong Dingxin is seen on the office building of Zhongrong International Trust, a trust company partially owned by Zhongzhi Enterprise Group, in Beijing, Aug. 22, 2023

วิกฤต "ธนาคารเงา" ที่ขยายตัวลุกลามในประเทศจีน กำลังสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจจีนโดยรวม ท่ามกลางคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลปักกิ่งว่าจะมีมาตรการที่เข้าช่วยเหลือได้หรือไม่ อย่างไร?

ในวันพุธ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางการจีนได้ขอให้บริษัทซิติกทรัสต์ (Citic Trust Co.) ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของธนาคารไชน่า คอนสตรัคชัน (China Construction Bank) ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ให้ช่วยประเมินสถานะของบริษัทลงทุน 'จงหรง อินเตอร์แนชั่นเนล ทรัสต์' (Zhongrong International Trust Co.) ที่กำลังประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรง

ครั้งล่าสุดที่บริษัทซิติกถูกขอให้ช่วยประเมินสถานะของบริษัทผู้จัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่เมื่อปี 2021 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้มาตรการพยุงสถานะการเงินของบริษัทดังกล่าวเพื่อไม่ให้ล้มครืนลง

ทั้งนี้ บริษัทจงหรง อินเตอร์แนชั่นเนล ทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ จงจี เอนเตอร์ไพรซ์ กรุ๊ป (Zhongzhi Enterprise Group) ถือครองสินทรัพย์ของนักลงทุนไว้เกือบ 90,000 ล้านดอลลาร์ และได้ผิดชำระหนี้ในผลิตภัณฑ์การลงทุน 22 ชนิดตั้งเเต่เดือนที่แล้ว สร้างความกังวลเรื่องความเสี่ยงว่าปัญหาอาจเเพร่กระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของระบบการเงินจีน

ปัญหาในภาคการเงินการลงทุนของจีนครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังประสบอุปสรรคในการกระตุ้นและรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจีนต้องนำมาตรการทางการคลังมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รายงานวิเคราะห์ล่าสุดโดยบริษัทวิจัย โรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) ในสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน ชี้ว่า ศักยภาพของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในการจัดการกับวิกฤตครั้งนี้อาจถูกจำกัดมากกกว่าที่หลายคนคิดไว้

ผู้ฝากเงินกับบริษัทจงหรง อินเตอร์เนชันแนง ทรัสต์ ประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2023
ผู้ฝากเงินกับบริษัทจงหรง อินเตอร์เนชันแนง ทรัสต์ ประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2023

ธนาคารเงา คืออะไร?

คำว่า "ธนาคารเงา" หมายถึง สถาบันการเงินที่ให้เงินกู้สำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกเหนือไปจากการใช้ช่องทางของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่มีกฎเกณฑ์มากกว่า

ธนาคารเงาหลายแห่งในประเทศจีนเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักกันดี บริษัททรัสต์เหล่านี้ให้ดอกเบี้ยเงินฝากในระดับสูงกว่าธนาคารทั่วไปที่มักกดดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 1.5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การให้ผลตอบแทนเงินฝากสูงดังกล่าวสามารถทำได้ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนมีการเจริญเติบโตสูงในระดับเลขสองหลักดังเช่นในช่วงหลายปีก่อนการระบาดของโควิด แต่กลับกลายเป็นเรื่องยากในเวลาที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง

นอกจากนั้น ธนาคารเงายังนำเงินฝากส่วนหนึ่งไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งประสบวิกฤตเช่นกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว บริษัทจงหรงนำเงินฝากจำนวนมากไปลงทุนเดิมพันในภาคอสังหาฯ ที่กำลังประสบปัญหา เพราะหวังว่าจะทำกำไรเมื่อตลาดฟื้นตัวขึ้นมา แต่กลับขาดทุนมหาศาลเมื่อตลาดบ้านของจีนยิ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤตลงเรื่อย ๆ

คาดกันว่าราว 11% ของสินทรัพย์ที่บริษัทจงทรงบริหารจัดการถูกนำไปลงทุนในตลาดอสังริมทรัพย์ดังกล่าว

ในรายงานวิเคราะห์ของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเมินความสูญเสียของภาคธุรกิจทรัสต์ในประเทศจีนอยู่ที่มูลค่าราว 38,000 ล้านดอลลาร์

ข้อจำกัดของมาตรการทางการคลัง

รัฐบาลกรุงปักกิ่งนำมาตรการหลายอย่างมาใช้ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อฟื้นฟูตลาดหุ้นที่ซบเซา แต่กลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ในอดีต จีนมักใช้การลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่รายงานวิเคราะห์ชิ้นใหม่ของบริษัทวิจัย โรเดียม กรุ๊ป ชี้ว่า ปัจจุบันศักยภาพของรัฐบาลกลางในการทำเช่นนั้นอาจลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน เนื่องจากประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างด้านการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างจำกัดมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกันไว้

โรแกน ควินน์ และโลแกน ไรท์ นักวิเคราะห์ของโรเดียม กรุ๊ป ระบุว่า ในความเป็นจริง ศักยภาพด้านการคลังของจีนมีข้อจำกัดสูงมาก เพราะระบบการคลังของจีนถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยรายได้จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นหัวใจหลัก แต่การเติบโตในลักษณะนั้นสิ้นสุดลงแล้ว รายได้จากภาษีจึงลดลงตามไปด้วย รวมทั้งการถดถอยของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้รายได้ของรัฐบาลดลงเช่นกัน

รายงานชิ้นนี้เสริมว่า ยอดขาดดุลงบประมาณที่แท้จริงของจีน ซึ่งรวมถึงงบประมาณทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 6-7% ของมูลค่าจีดีพีของจีน และมีแนวโน้มที่อาจจะคงที่หรือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะจำกัดการใช้จ่ายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่งลง รวมทั้งการใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีจากนี้ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG