วัยรุ่นชาวจีนจำนวนมากหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์ในการขายสินค้าให้กับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อหารายได้กันมากขึ้น โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรจะใช้วิธีการไลฟ์สตรีมมิ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน เพื่อชักชวนให้ผู้ที่ดูการไลฟ์อยู่นั้นจ่ายเงินซื้อสินค้าจากแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่างเช่น อันเดอร์ อาร์เมอร์, ลังโคม และ ฮิวโก้ บอส เป็นต้น
จาง จินหยู สตรีมเมอร์สาววัย 28 ปี อดีตนางแบบที่เรียนด้านแฟชั่นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า เธอได้แนะนำผลิตภัณฑ์ของ YSL บิวตี้ และแบรนด์อื่น ๆ ผ่านการไลฟ์สตรีมมิ่งมาหลายร้อยชั่วโมงแล้ว
ในการไลฟ์ขายสินค้าของจางนั้น คือการที่เธอจะต้องพูดต่อหน้ากล้องอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึงหกชั่วโมง นอกจากนี้ เธอยังต้องทำผมแต่งหน้าก่อนที่จะไลฟ์ และใช้เวลาในการบันทึกยอดขายหลังจากที่การไลฟ์ของเธอสิ้นสุดลงอีกด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จางเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวชาวจีนหลายล้านคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาการว่างงานของเยาวชนที่มีอัตราสูงกว่า 21% และการไลฟ์ขายสินค้านี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียสามารถสร้างรายได้โดยที่ไม่ต้องทำงานเต็มเวลา
จางกล่าวว่า สำหรับการไลฟ์ขายของนั้น แค่มีโทรศัพท์หนึ่งเครื่องก็สามารถทำได้แล้ว แต่ตอนนี้มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้เป็นการยากแก่ผู้ที่เข้าวงการใหม่ ๆ ในการหาผู้ติดตาม แต่ถ้ามีความอดทนก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นหนุ่มสาวชาวจีนมากกว่า 10,000 คนผ่าน เว่ยโป๋ (Weibo) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับวิธีการขายสินค้าในช่องทางนี้ โดยหนุ่มสาวมากกว่า 60% กล่าวว่า พวกเขามีความสนใจที่จะทำงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลมีเดีย หรือพิธีกรไลฟ์สตรีมมิ่ง
การศึกษาโดย iResearch ซึ่งเป็นเอเจนซีการตลาดในประเทศจีน พบว่าอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งต้องจ้างพิธีกรมากกว่า 1.2 ล้านคนในปี 2020 ในขณะที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ช่วยให้ยอดขายของการไลฟ์ขายสินค้าเติบโตขึ้น และสามารถสร้างรายได้ประมาณ 480,000 ล้านดอลลาร์ในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว
การเติบโตดังกล่าวนำไปสู่การสร้างบริษัทเอเจนซีจำนวนมากที่มุ่งฝึกอบรมพิธีกรหน้าใหม่เพื่อขายสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ
จาง เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ร่วมงานกับบริษัทเอเจนซี Romomo ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของ Buy Quickly ที่ช่วยให้บรรดาพิธีกรไลฟ์สตรีมมิ่งสามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์หลัก ๆ ที่เน้นในเรื่องของแฟชั่นได้
ชินหนิง ลี (Shining Li) รองประธานบริษัท Romomo บอกกับรอยเตอร์ว่า เธอคิดว่าการไลฟ์สตรีมมิ่งในปัจจุบันเป็น "วิธีการสื่อสารที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง" สำหรับแบรนด์สินค้าต่างประเทศที่เธอร่วมงานด้วย
ทางด้าน ฉี เจียนหนิง (Shi Jianing) พิธีกรไลฟ์สตรีมมิ่งวัย 28 ปี ก็กล่าวว่า การไลฟ์ขายของเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับบรรดาผู้ติดตาม และยังเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ที่เธอเป็นตัวแทนอีกด้วย
เธอกล่าวเสริมด้วยว่า เธอพูดคุยกับลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อนกัน เพราะหากสามารถพูดคุยกันได้อย่างสนิทสนม ก็จะเป็นการสร้างความไว้วางใจ และความสัมพันธ์แบบนั้นก็จะทำได้ลูกค้าต้องการที่จะซื้อของกับเราต่อไปอีกเรื่อย ๆ
- ที่มา: รอยเตอร์