สะเทือนถึงมหาสมุทรอินเดีย!? เมื่อจีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ ขยายกำลังทางทะเลเกินแถบแปซิฟิก

China's first domestically built aircraft carrier is seen during its launching ceremony in Dalian, Liaoning province, China

Your browser doesn’t support HTML5

China Aircraft Carrier

จีนเพิ่งเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตในประเทศ และเป็นลำที่สองของกองทัพจีน ต่อจากเรือ “เหลี่ยวหนิง” ที่ซื้อมาจากยูเครนเมื่อหลายปีก่อน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการยกระดับศักยภาพทางการทหารครั้งสำคัญของปักกิ่ง และอาจช่วยขยายอิทธิพลทางทหารของจีนจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดียด้วย!

สื่อของทางการจีนรายงานข่าวพิธีเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของจีน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตในประเทศ และถือเป็นความภาคภูมิใจของกองทัพจีน

นักวิเคราะห์เชื่อว่าการเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและศักยภาพทางการทหารโดยรวม

ตลอดจนเป้าหมายใหญ่กว่านั้น คือการขยายอิทธิพลทางทหารเข้าไปในแถบมหาสมุทรอินเดีย

China's first domestically built aircraft carrier is seen during its launching ceremony in Dalian, Liaoning province, China, April 26, 2017.

สื่อของทางการจีนรายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้จะเริ่มนำมาประจำการในกองทัพในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งระหว่างนี้จะทดสอบล่องตามน่านน้ำต่างๆ เช่นเดียวกับเรือลำแรก และจะนำไปติดตั้งอาวุธให้เรียบร้อยก่อนใช้งานจริง

เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่มีชื่อว่า “เหลี่ยวหนิง” นั้น จีนซื้อมาจากยูเครน เป็นเรือเก่าจากสมัยสหภาพโซเวียต แล้วนำมาบูรณะใหม่พร้อมติดตั้งระบบอาวุธต่างๆ โดยเรือเหลี่ยวหนิงเริ่มทดสอบทางทะเลเมื่อปี ค.ศ. 2011 และปัจจุบันได้นำมาใช้ปฏิบัติการลาดตระเวนอยู่ในแถบทะเลจีนใต้

สำหรับเรือลำที่สองนี้มีขนาดใหญ่กว่าลำแรกเล็กน้อย และมีลักษณะภายนอกคล้ายกับเรือเหลี่ยวหนิง จนหลายคนเรียกว่า “เหลี่ยวหนิงปรับปรุงใหม่” ด้วยการยกระดับศักยภาพด้านการต่อสู้และการฝึกฝน นอกจากนี้ยังขยายส่วนที่ใช้จอดเครื่องบินให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม

China's Liaoning aircraft carrier with accompanying fleet conducts a drill in an area of South China Sea, in this undated photo taken December 2016.

คุณ Alex Neill แห่ง International Institute for Strategic Studies เรียกพิธีเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของจีนว่าเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” เพราะการที่เรือลำนี้บรรจุเชื้อเพลิงได้มากขึ้น หมายความว่าจะสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ

นักวิเคราะห์ผู้นี้มั่นใจว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนน่าจะถูกใช้ในปฏิบัติการที่ไกลกว่าทะเลจีนใต้ นั่นคือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของจีน

คุณ Neill ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแถบเอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า

"ลำพังแค่เรือลำใหญ่นั้นอาจเป็นแค่แผ่นเหล็กลอยน้ำ ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักในการต่อสู้ แต่ศักยภาพจริงๆ ของมันคือการสนับสนุนยุทธศาสตร์การป้องกันและโจมตีโดยรวมทั้งทางอากาศและทางทะเล"

ด้านคุณ Richard Bitzinger แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ชี้ว่าแม้ในภาพรวมแล้ว จีนยังตามหลังหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ อยู่มาก ทั้งในด้านของศักยภาพและจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ประเด็นสำคัญคือการใช้ประโยชน์จริงจากเรือดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีนในด้านนี้ด้วย

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการทั้งหมด 10 ลำ และเมื่อไม่นานนี้ก็เพิ่งสิ้นสุดการทดสอบทางทะเลของเรือยักษ์ Gerald R. Ford Supercarrier ที่มีขนาดราว 18,000 ตารางเมตร ระวาง 1 แสนตัน ขับเคลื่อนดัวยพลังงานนิวเคลียร์ และสามารถล่องทะเลได้นาน 90 วันโดยไม่ต้องแวะเติมเชื้อเพลิง

The USS Gerald R. Ford is seen at Newport News Shipbuilding in Newport News, Virginia, April 27, 2016. The $13 billion warship, the first of the Navy’s next generation of aircraft carriers, is in the final stages of construction after delays and cost over

ขณะที่ในบทความซึ่งตีพิมพ์ใน China Daily ฉบับวันพุธ นักวิเคราะห์ด้านการทหารของจีน Wang Xiaoxuan ชี้ว่า “หากเทียบกับกองกำลังทางทะเลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ดูเหมือนกองทัพเรือของจีนจะยังเทียบไม่ได้ เพราะทั้งเครื่องบิน เรือดำน้ำ และเรือรบอื่นๆ ของจีน ยังไม่ผสานรวมอย่างกลมกลืนเป็นกองกำลังเดียวกัน”

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว จีนตั้งใจจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอย่างน้อย 4 ลำ และมีสองลำที่ออกปฏิบัติการในเวลาเดียวกันตลอดเวลา

(ผู้สื่อข่าว Bill Ide รายงานจากกรุงปักกิ่ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)