ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังขุ่นมัว หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะมีการตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งมีชื่อของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย จนก่อให้เกิดความกังวลต่อนโยบายการค้าของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ
รมต.พาณิชย์สหรัฐฯ Wilbur Ross กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นที่การลดยอดขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ และสร้างบรรยากาศการค้าที่เสรีและยุติธรรม เพื่อปกป้องคนอเมริกันและพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะใช้เวลา 90 วันในการตรวจสอบเกี่ยวกับการขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ ต่อหลายประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าจะกำจัดการเอาเปรียบและการคดโกงทางการค้าต่อสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในด้านนโยบายการค้าของอเมริกา
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การตรวจสอบครั้งนี้อาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าครั้งสำคัญ ระหว่างประเทศในเอเชียกับอเมริกา
โดยรายชื่อประเทศแถบเอเชียที่ ปธน.ทรัมป์ ระบุว่าเอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ นั้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ มาเลเซีย อินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย
การค้าระหว่างอเมริกากับประเทศเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่น ที่ได้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังจากที่เป็นผู้แพ้สงคราม จากนั้นประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ก็ต่างมุ่งมองไปยังตลาดอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง จนมาถึงในยุคของจีนที่ได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลต่อสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาล ปธน.ทรัมป์ ดูเหมือนประเทศจากทางเอเชียเหล่านี้กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำลายเศรษฐกิจอเมริกัน
คุณ Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ Capital Economics ในสิงคโปร์ เชื่อว่าข้อกล่าวหาและการตรวจสอบของรัฐบาลอเมริกัน ได้ทำให้เกิดความไม่สบายใจไปทั่วเอเชีย
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า “ดูเหมือนประเทศที่เป็นกังวลต่อนโยบายของ ปธน.ทรัมป์ มากที่สุดในขณะนี้ ก็คือเกาหลีใต้และไต้หวัน ที่อาจถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าเป็นผู้บงการค่าเงิน ทำให้ค่าเงินของตนต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อผลประโยชน์ด้านการส่งออกสินค้า”
แต่ทางการไต้หวันได้ออกมาแก้ต่างว่า การค้าระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ นั้นอยู่ภายใต้หลักผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ
คุณ Krystal Tan เชื่อว่า สิ่งที่ทางการไต้หวันและเกาหลีใต้หวั่นเกรงมากที่สุด คือมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ ที่อาจตามมาหลังการประกาศว่าทั้งสองประเทศเป็นผู้บงการค่าเงิน และเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษดังกล่าว สองประเทศนี้อาจต้องยอมเปิดตลาดรับสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น
ด้านกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า มาเลเซียไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และไม่เคยเอาเปรียบด้านการค้าต่อสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษต่อมาเลเซียจริง บริษัทอเมริกันในมาเลเซียเอง เช่น Intel และ Western Digital จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด
คุณ Peck Boon Soon นักเศรษฐศาสตร์จาก RHB Research ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า "ขณะนี้ภาคธุรกิจของมาเลเซียกำลังจับตามองนโยบายการค้าของรัฐบาล ปธน.ทรัมป์ อย่างใกล้ชิด"
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับสามของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 36,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ในจำนวนนี้กว่า 60% เป็นการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหรัฐฯ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 12,400 ล้านดอลลาร์
โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดอเมริกามากที่สุด คือ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ยาง และอัญมณีต่างๆ
ในส่วนของเวียดนาม เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นายกฯ เวียดนาม ได้กล่าววิจารณ์การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้าของ ปธน.ทรัมป์ โดยเฉพาะการถอนตัวจากข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เวียดนามเข้าร่วมด้วย ว่าส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการส่งออกของเวียดนาม
อาจารย์ Carl Thayer นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย ระบุว่า "ที่ผ่านมาเวียดนามต้องการอาศัยสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เวียดนามตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลง TPP แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัว เวียดนามจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใหม่"
อาจารย์ Thayer เชื่อว่า เวลานี้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาสมดุลของ 5 ฝ่าย คือนอกจากจีนและสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น
แต่ในขณะที่อิทธิพลของอเมริกากำลังอ่อนแอลงในเอเชีย ประกอบกับท่าทีที่ไม่แน่นอนของรัฐบาล ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นไปได้ว่าเวียดนามจะถูกดึงเข้าไปใกล้จีนมากขึ้น รวมถึงการจำใจเข้าร่วมในข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่มีจีนเป็นผู้ผลักดันด้วย
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)