นักวิทย์ชี้ โลกมองข้าม ‘หายนะจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง’

scotland protest5

นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกลุ่มหนึ่งอ้างว่า ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทำการเพิกเฉยต่อสถานการณ์หายนะที่เลวร้ายที่สุดอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการล่มสลายของสังคมและสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่าง การสูญพันธุ์ของมนุษย์ เป็นต้น

กลุ่มที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ของจำนวน 11 คนที่มาจากทั่วโลกเรียกร้องให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศ ให้จัดทำรายงานพิเศษด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นำมาซึ่งหายนะ” เพื่อ “เน้นย้ำถึงระดับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด”

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ เพิ่งร่วมกันเขียนบทความลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ที่ตีพิมพ์การประเมินคุณภาพของงานวิจัย เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งระบุว่า แนวคิดเรื่องการการสูญพันธุ์ของมนุษย์และการสิ้นสลายของสังคมโลก เป็น “หัวข้ออันตรายยิ่งที่ยังไม่มีการศึกษาลงลึกพอ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กล่าวว่า ตนไม่ได้กำลังพูดว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ชี้ว่า ปัญหาก็คือ ไม่มีใครรู้ว่า “การเผด็จศึกของสภาพภูมิอากาศ” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร และโลกของเราจำเป็นที่จะต้องทำการคำนวณศึกษาประเด็นทั้งหมดนี้เพื่อใช้ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ลุค เคมป์ หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์การศึกษาความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของมนุษย์ (Center for the Study of Existential Risk) จากมหาวิทยาลัย University of Cambridge ในประเทศอังกฤษ และเป็นหัวหน้าทีมจัดทำการศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า “ในช่วงศตวรรษหน้า มนุษย์ไม่น่าที่จะเข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์ เพราะมนุษย์มีทักษะในการปรับตัวอย่างน่าเหลือเชื่อ” แต่กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศจะนำมาซึ่งหายนะ “น่าจะเพียงพอที่จะเรียกร้องความสนใจ” และนำไปสู่การคิดค้นระบบป้องกันและการเตือนภัยได้แล้ว

ทิม เลนตัน จากสถาบัน Global Systems Institute ของมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา ชี้ว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ดีคือ การพิจารณาความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดและเลวร้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การต่อต้านของกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และปฏิเสธกรณีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้แนวทางการศึกษาวิทยาศาสตร์หลัก ๆ ด้านภูมิอากาศให้ความสนใจแต่เพียงกับประเด็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุด และยังให้ความใส่ใจมากเกินไปต่อกรณีการร้อนขึ้นของพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ตามแนวทางเป้าหมายต่อสู้ภาวะโลกร้อนระหว่างประเทศ โดยไม่ได้มุ่งดูเรื่องที่ว่า สถานการณ์ต่าง ๆ จะเลวร้ายลงได้อย่างไร ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะความเสี่ยงใหญ่ ๆ

FILE - A drop of water falls off an iceberg melting in the Nuup Kangerlua Fjord near Nuuk in southwestern Greenland, Aug. 1, 2017.

การศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องนี้ ชี้ว่า เมื่อองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลกพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่มักที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ สภาพอากาศแบบสุดขั้ว อุณหภูมิที่ปรับเพิ่ม การละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ เท่านั้น และไม่มีการคิดต่อไปว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมมนุษย์ และมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับปัญหาที่มีอยู่ อย่างเช่น ภาวะสงคราม ความหิวโหย และโรคภัย เป็นต้น

SEE ALSO: สภาพอากาศแบบสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างหายนะในเอเชีย

คริสตี้ เอบิ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขและสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัย University of Washington และเป็นสมาชิกของ IPCC กล่าวว่า การไม่พยายามเชื่อมโยงปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ นั้นให้ดี จะนำมาซึ่งบทเรียนราคาแพง โดยยกตัวอย่าง กรณีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่ทำงานผิดพลาดด้วยการประเมินภาวะระบาดใหญ่ของโรค เช่น โควิด-19 ด้วยการมุ่งเน้นดูว่า เชื้อนั้นแพร่กระจายอย่างไร แทนที่จะข้ามไปดูถึงมาตรการล็อกดาวน์ ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และสภาพเศรษฐกิจดิ่งลงเหว

ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ เนื้อหาของรายงานแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการล่มสลายของสังคม ซึ่งรวมถึง สงคราม ความอดอยาก และวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มากกว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก

สำหรับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงนอกกลุ่มนี้ มีผู้ที่ยินดีรับฟังและสงสัยเกี่ยวกับการมุ่งเน้นไปดูเรื่องของรูปการณ์ที่เลวร้ายแบบสุด ๆ แต่ก็มีหลายคนที่ขอไม่พูดถึงเรื่องวันโลกาวินาศที่เกิดจากปัญหาสภาพภูมิอากาศอยู่ดี

คิม คอบบ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัย Brown University ให้ความเห็นว่า การพูดถึงเรื่องการสิ้นสูญของมนุษยชาตินั้น “ไม่ใช่เครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมาก” เลย เพราะผู้คนมักแสดงท่าทีไม่อยากรับฟัง หรือไม่ก็โต้ว่า เป็นแนวคิดของพวกชอบกระพือเรื่องวันโลกาวินาศมากกว่า

แต่ ทิม เลนตัน ผู้เขียนร่วมเขียนรายงานกล่าวทิ้งท้ายว่า การค้นคว้าเกี่ยวกับกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับโลกของเรา อาจนำไปสู่การคลายความกังวลใจได้ และว่า “บางที การทำเช่นนั้นอาจทำให้คุณสามารถตัดความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่เลวร้ายออกไปได้อย่างครบถ้วน ซึ่งก็จะเป็น การใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และเราก็จะรู้สึกมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาบ้าง”

  • ที่มา: วีโอเอ