จากการศึกษาครั้งใหม่ พบว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง พร้อมด้วยการสูญเสียถิ่นฐานตามธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการเกษตรขนาดใหญ่ กำลังทำให้ประชากรแมลงทั่วโลกมีจำนวนที่ลดลง และที่สำคัญปัจจัยทั้งสองต่างเสริมสร้างความเสียหายซึ่งกันและกัน จนทำให้ทุกอย่างนั้นย่ำแย่มากกว่าเดิม
สำหรับคนทั่วไป แมลงอาจเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญใจ แต่พวกมันก็มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เกสร ช่วยทำให้ดินมีความุดมสมบูรณ์ ขณะที่ แมลงจำพวกผีเสื้อและหิ่งห้อยต่างก็มีความสวยงามตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า แมลงมีจำนวนและความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่ลดลงอย่างมาก โดยเชื่อว่า มีสาเหตุนับพันที่ทำให้แมลงตายลงอย่างช้าๆ ซึ่งรวมถึงการใช้ยาฆ่าแมลงและมลพิษชนิดไม่รุนแรง
การค้นคว้าที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Wednesday ที่ศึกษาแมลงจำนวนมากกว่า 750,000 ตัวอย่าง จาก 18,000 สายพันธุ์ พบว่า ปัจจัยอย่างเช่น การทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในระบบพืชเชิงเดี่ยวที่ไม่มีความหลากหลายทำให้เหล่าแมลงต้องขาดอาหารและสูญเสียถิ่นที่อยู่ ขณะที่ ปัจจัยอย่างอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงยิ่งทำให้ผลกระทบดังกล่าวรุนแรงขึ้นและทำให้เหล่าแมลงต้องเผชิญกับหายนะด้านจำนวนประชากร
สองปัจจัยที่กล่าวมาเบื้องต้นกลายมาเป็นปัจจัยส่งซึ่งกันและกันจนทำให้แต่ละปัญหาขยายตัวมากขึ้น โดยราวครึ่งหนึ่งของกรณีศึกษาชี้ว่า คู่ปัจจัยนี้ทำให้จำนวนประชากรแมลงลดลง และมากกว่า 1 ใน 4 ของตัวอย่าง ระบุว่า สองสาเหตุดังกล่าว ทำให้ความหลากหลายทางสายพันธุ์ของแมลงด้อยลง
ชาร์ลอท อูวเวท นักนิเวศวิทยา จากมหาวิทยาลัย University College of London และเป็นผู้เขียนรายงานการศึกษา กล่าวว่า “เรารู้ว่าแมลงกำลังถูกคุกคาม และมนุษย์เรากำลังต้องรับมือกับผลกระทบที่มากกว่า”
เธอยืนยันว่า “เมื่อทั้งสองสิ่งเกิดขึ้นร่วมกัน อย่างการสูญเสียถิ่นฐานตามธรรมชาติ และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ผลลัพธ์ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม”
อูวเวทยังชี้ว่า ถ้าเราพิจารณาสองปัจจัยนี้แยกออกจากกัน จะทำให้เรามองปัญหาภาพรวมที่คลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ มักที่จะทำให้ขาดร่มเงาและอุณหภูมิในบริเวณนั้นสูงขึ้น อีกทั้งเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดพร้อมๆ กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชากรแมลงที่ปกติจะอพยพขึ้นทางทิศเหนือเพื่อหลบร้อน จะประสบปัญหาขาดแหล่งพักพิง
กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาหนักเป็นพิเศษในพื้นที่บางประเทศ เช่น อินโดนีเซียและบราซิล ที่ประสบวิกฤตป่าไม้ถูกรุกล้ำและอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าจุดอื่นของโลกอยู่
นักนิเวศวิทยาท่านนี้ ยังเปรยอีกว่า หากเราเป็นคนที่ชื่นชอบในการทานชอคโกแลต เราก็ไม่ควรที่จะรำคาญแมลงตัวเล็กๆ เพราะพวกมันช่วยในการแพร่พันธุ์ต้นโกโก้ด้วย
ทางด้าน เดวิด แวคเนอร์ ผู้ชำนาญด้านกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัย University of Connecticut มองว่า การศึกษาที่ตีพิมพ์ในครั้งนี้ มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการศึกษาจากตัวอย่างของแมลงที่หลากหลายจากทั่วโลก และชี้ว่า นี่เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่เชื่อมโยง 2 ปัจจัยที่กำลังทำร้ายแมลง ทั้งเรื่องเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน
รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า อาหารของมนุษย์ราว 1 ใน 3 เกิดจากการผสมเกสรที่มีแมลงเกี่ยวพัน ส่วนรายงานด้านวิทยาศาสตร์จากองค์การสหประชาชาติ ในปี 2016 ชี้ว่า 2 ใน 5 ของสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไร้สันหลังที่ทำหน้าที่ผสมเกสร อย่างเช่น ผึ้งและผีเสื้อ กำลังอยู่ในสถานะที่เข้าใกล้การสูญพันธุ์แล้ว
- ที่มา: เอพี