รายงานของสหประชาชาติระบุว่าสภาพอากาศแบบสุดขั้วและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน และส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลในทุกส่วนของเอเชียเมื่อปีที่แล้ว
รายงานจากหลายหน่วยงานที่ประสานงานโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization - WMO) เตือนว่า ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านทั่วเอเชียกำลังถูกคุกคามจากภาวะน้ำท่วม พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง และภัยจากสภาพอากาศอื่นๆ
รายงานระบุว่า สภาพอากาศแบบสุดขั้วและภัยธรรมชาติต่างๆ กำลังส่งผลกระทบต่อการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แย่ลง และทำให้เกิดการพลัดถิ่นของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบางจำนวนมหาศาล โดยความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนระบบนิเวศที่สูญเสียไปนั้นคิดเป็นมูลค่าปีละหลายแสนล้านดอลลาร์
หนึ่งในความผิดปกติของสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมาก และ แคลร์ นัลลิส (Clare Nullis) โฆษกหญิงของ WMO กล่าวว่า ปี ค.ศ. 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเอเชีย และว่า อุณหภูมิแบบสุดขั้วเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่เมืองแวร์โคยันส์ค (Verkhoyansk) ในไซบีเรีย ซึ่งมีอุณหภูมิสูงอย่างเหลือเชื่อที่ 38 องศาเซลเซียส และทางองค์การฯ กำลังตรวจสอบว่าอุณหภูมิดังกล่าวเป็นสถิติใหม่ของบริเวณที่อยู่เหนือเส้นรุ้งบนสุดของโลก หรือที่เรียกว่า Arctic Circle ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือหรือไม่
นอกจากนี้รายงานยังพบว่า อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลและภาวะน้ำทะเลอุ่นทั้งในและรอบๆ เอเชียเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และว่าอุณหภูมิในส่วนต่างๆ ของมหาสมุทรอาร์กติกก็สูงขึ้นถึง 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1982-2020
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิภาคนี้คือการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ นอกจากนี้บริเวณที่เรียกว่า High Mountain Asia หรือแถบยอดเขาสูงของเอเชีย ยังที่เป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็งความยาวรวมกันประมาณ 100,000 กิโลเมตรซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัยอีกด้วย
นัลลิส กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียมีปริมาณน้ำแข็งมากที่สุดซึ่งอยู่นอกบริเวณขั้วโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ 10 สายในเอเชียที่ผู้คนนับล้านต้องพึ่งพาอาศัย
นอกจากนี้ การถดถอยของธารน้ำแข็งก็กำลังเพิ่มความเร็วขึ้น คาดว่ามวลธารน้ำแข็งจะลดลง 20 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 750 ล้านคนในภูมิภาคนี้ และแน่นอนว่า ผลกระทบที่สำคัญคือระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งวัฏจักรของน้ำในภูมิภาค ส่วนผลที่จะเกิดในระยะสั้นและจะก่อให้เกิดอันตรายคือ ดินถล่ม หิมะถล่ม เป็นต้น
รายงานระบุด้วยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมและพายุในปี ค.ศ. 2020 ส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 50 ล้านคนในเอเชีย คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 5,000 คน และทำให้เกิดการสูญเสียสะสมเป็นมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์เฉพาะในจีน อินเดีย และญี่ปุ่นเท่านั้น
นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ความเสียหายจากปัญหาธรรมชาติแบบสุดโต่งในเอเชียกำลังเพิ่มสูงขึ้น และเตือนว่า แนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไปในอนาคต โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำให้ประเทศต่างๆ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการป้องกันอื่นๆ และว่า การลงทุนที่มีเดิมพันสูงนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายหลายประการ