ศึกสองด้าน!! อังกฤษเผชิญความท้าทายทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก...หลังออกจาก EU

Demonstrators take part in a protest aimed at showing London's solidarity with the European Union following the recent EU referendum, inTrafalgar Square, central London, Britain, June 28, 2016.

Demonstrators take part in a protest aimed at showing London's solidarity with the European Union following the recent EU referendum, inTrafalgar Square, central London, Britain, June 28, 2016.

นอกจากความท้าทายในการสรรหานายก รมต. คนใหม่แล้ว อังกฤษยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสหภาพยุโรป

Your browser doesn’t support HTML5

UK Leadership

การแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ แทนนายกฯ เดวิด แคเมอร่อน เริ่มขึ้นแล้วในวันพฤหัสบดี โดยมีผู้สมัครหลายคนที่เริ่มประกาศนโยบายรับมือกับผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit

อย่างไรก็ตาม นาย บอริส จอห์นสัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้อังกฤษแยกออกจาก EU ยืนยันว่าจะไม่แข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในครั้งนี้

การที่นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน และผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้อังกฤษแยกออกจาก EU ออกมาประกาศว่าจะไม่แข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม ได้ก่อให้เกิดความแปลกใจอย่างยิ่งต่อผู้ที่ติดตามการเมืองอังกฤษ และทำให้บรรดาหนังสือพิมพ์แนวแท็บลอยด์ที่ชอบเสนอข่าวที่เต็มไปด้วยสีสันของนายบอริส จอห์นสัน ต่างผิดหวังไปตามๆกัน

Vote Leave campaign leader Boris Johnson speaks in London. (Reuters)

Vote Leave campaign leader Boris Johnson speaks in London. (Reuters)

นายจอห์นสันกล่าวว่า หน้าที่ของตนจากนี้คือการสนับสนุนผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ให้เดินหน้าทำตามที่รับปากกับประชาชนเอาไว้ก่อนการลงประชามติ

สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมบางคนกล่าวกับ VOA ว่า สาเหตุหนึ่งที่อาจมีส่วนต่อการตัดสินใจของนายบอริส จอห์นสัน ในครั้งนี้ คืออีเมล์ลับที่ภรรยาของรัฐมนตรียุติธรรมอังกฤษ นายไมเคิ่ล โกว์ฟ ส่งให้สามี ซึ่งระบุถึงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างนายจอห์นสัน กับ รมต.โกว์ฟ ซึ่งต่างร่วมรณรงค์ให้อังกฤษออกจาก EU จน รมต.โกว์ฟ ได้ออกมาประกาศไม่รับตำแหน่งผู้นำพรรคไปแล้วก่อนหน้านี้

หลังการถอนตัวล่าสุดของนายบอริส จอห์นสัน สายตาของชาวอังกฤษจึงจับจ้องไปที่ รมต.มหาดไทย เธเรซ่า เมย์ ผู้ที่หลายคนบอกว่าทำให้นึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งของอังกฤษ นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์

United Kingdom Home Secretary Theresa May

ที่ผ่านมา รมต.เมย์ วางตัวเป็นคนกลางที่สามารถเชื่อมรอยร้าวของฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษแยกออกจาก EU หรือ “Leave” กับฝ่ายที่ต้องการให้อยู่กับ EU ต่อไปหรือ “Remain” ด้วยบุคลิกที่มั่นใจและพูดจาเต็มไปด้วยหลักการน่าเชื่อถือ

ก่อนการลงประชามติ รมต.หญิงผู้นี้ออกมาสนับสนุนฝ่าย Remain แต่เมื่อทราบผล เธอก็ออกมายอมรับผลการออกเสียงของประชาชนแต่โดยดี พร้อมยืนยันว่าอังกฤษควรออกจาก EU ดังที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงประชามติรอบสองอีกต่อไป

รมต.เธเรซ่า เมย์ ยังยืนยันด้วยว่า เมื่ออังกฤษแยกตัวออกมาแล้ว การจะทำข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปในอนาคต จะต้องไม่มีประเด็นเรื่องเสรีภาพในการโยกย้ายแรงงานรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้นำสหภาพยุโรปกำหนดไว้ หากอังกฤษต้องการทำข้อตกลงการค้ากับ EU

ในส่วนของคู่แข่งพรรคอนุรักษ์นิยม คือพรรคแรงงาน ก็กำลังวุ่นวายเช่นกัน เมื่อสมาชิกพรรคแรงงานส่วนใหญ่ต่างลงชื่อเรียกร้องให้ผู้นำพรรค นายเจเรมี คอร์บิน ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่พรรคแรงงานไม่สามารถสนับสนุนให้ฝ่าย Remain มีชัยชนะในการลงประชามติได้ พร้อมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคแรงงานเสียใหม่

อย่างไรก็ตาม นายคอร์บินยังคงแข็งขืนแม้จะถูกลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากเขายังกุมเก้าอี้ไว้ไม่ยอมปล่อย พรรคแรงงานอาจพ่ายแพ้อย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งหน้า

และในขณะที่ศึกการเมืองภายในกำลังร้อนแรง อังกฤษก็ยังต้องเผชิญกับการเมืองภายนอกประเทศ หลังจากเมื่อวานนี้ บรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศที่เหลือได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ซึ่งจะทำให้ยากขึ้นที่อังกฤษจะเข้าถึงตลาดในสหภาพยุโรปเมื่อแยกตัวออกไปแล้ว

ขณะที่ฝรั่งเศสก็กำลังพยายามผลักดันให้กรุงปารีสกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรปแทนกรุงลอนดอน ด้วยการเสนอให้กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ซึ่งกีดกันการทำธุรกรรมของธนาคารในอังกฤษมากขึ้นเช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Jamie Dettmer รายงานจากกรุงลอนดอน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)