หลังจากที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงของสหราชอาณาจักรลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แรงสั่นสะเทือนทางการเมืองและต่อตลาดเงินโลกที่รุนแรง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของอังกฤษต่อไปจากนี้
ท่ามกลางฝุ่นที่กำลังตลบ สหรัฐฯ และเยอรมนีพยายามดำเนินแนวทางสายกลาง แต่ปฏิกิริยาที่รุนแรงเห็นได้ชัดจากสก็อตแลนด์ที่ร่วมโหวตในการลงประชามติ โดยเสียงส่วนใหญ่ของสก็อตแลนด์ต้องการอยู่ร่วมกับอียู ส่วนนักการเมืองอังกฤษที่เคยเรียกร้องให้อังกฤษออกจากอียูกลับค่อนข้างเงียบ
นางอังเกอล่า เมอร์เคิ่ล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีหัวเรือใหญ่ของสหภาพยุโรป กล่าวว่าควรให้เวลาอังกฤษทบทวนผลที่เกิดขึ้นจากการลงประชามติให้ออกจากอียู แต่โฆษกของเธอจะกล่าวว่านั่นได้หมายความว่า นายกเยอรมนีพูดว่าจะให้โอกาสอังกฤษทบทวนการตัดสินใจ
ท่าทีของนางเมอร์เคิ่ลอ่อนโยนกว่าผู้นำกลุ่มอียูหลายคน ที่เรียกร้องให้อังกฤษอย่าได้รีรอในการเดินออกจากสหภาพยุโรป
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโอบามาผู้ที่เคยร่วมสนับสนุนให้อังกฤษอยู่เป็นสมาชิกอียู กล่าวว่าไม่ว่าจะอย่างไร ตนยืนยันว่าความสัมพันธ์ของอเมริกาและอังกฤษยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม
และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จอห์น แคร์รี่ เดินทางถึงยุโรปและเตรียมแสดงบทบาทคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้มีการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนที่ก่อให้เกิดสหภาพยุโรป
ภายใต้มาตราดังกล่าวอังกฤษจะต้องออกจากอียูโดยอัตโนมัติภายในสองปี
ภายในอังกฤษเอง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมรอน ผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกอียูต่อ ประกาศลาออกไปเรียบร้อยแล้ว สมาชิกสภาพรรคแรงงาน Emily Thornberry กล่าวว่า อังกฤษกำลังแคว้งคว้างไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ
หลังการโหวต Brexit เหมือนอังกฤษถูกเขย่าโยนจนกลับหัวกลับหางและถูกถลกเนื้อในออกมาด้านนอก
ขณะที่ผู้สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูในสภาอังกฤษ พยายามชะลอผลของ Brexit และทางเลือกหนึ่งคือการรักษาสภาพความเกี่ยวพันกับสหภาพยุโรป อย่างที่เห็นจากความตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอียูและสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์
แม้หลายส่วนของโลกจะเกิดความปั่นป่วนและผู้นำโลกออกมาแสดงความเห็นกัน แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่เงียบอย่างผิดสังเกตคือปฏิกิริยาของนาย Boris Johnson และ Nigel Farage ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรณรงค์ให้ชาวอังกฤษลงคะแนนออกจากสหภาพยุโรปนั่นเอง
(รายงานโดย Jamie Dettmer / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)