ชัยชนะของฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก รวมทั้งในเอเชีย และยุโรป ร่วงลงทันที ขณะที่เงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเช่นกันอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี
มีชาวอังกฤษออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน 72% ซึ่งมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ท่ามกลางฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกต่อการลงประชามติครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นาย เดวิด แคเมอร่อน แถลงลาออกจากตำแหน่ง หลังทราบผลลงประชามติที่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
WATCH: Cameron statement after Brexit vote
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า "ชาวอังกฤษได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนแล้วว่าจะเลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป ผมจึงคิดว่าอังกฤษจควรมีผู้นำคนใหม่ที่สามารถนำพาประเทศไปสู่จุดหมายนั้นได้" โดยระบุว่าการลาออกจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่า อดีตนากเทศมนตรีกรุงลอนดอน นาย บอริส จอห์นสัน จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ คนใหม่ ซึ่งตัวเขานั้นเป็นผู้นำการรณรงค์ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกับนายคาเมอร่อน
WATCH: Leave campaign leader Nigel Farage reacts to vote
วิเคราะห์ผลกระทบ "Brexit" เมื่ออังกฤษโหวตออกจากอียู
ในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ของ EU กล่าวว่า ถ้าอังกฤษออกจาก EU อังกฤษจะเป็นฝ่ายประสบความสูญเสียมากกว่า EU และเตือนว่า หลังจากนั้นถ้าอังกฤษต้องการจะเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบที่ EU ทำไว้กับนอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ ก็จะทำไม่ได้ง่ายๆ
นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวว่า ถ้าอังกฤษออกจาก EU จะถือว่าอังกฤษเป็นเสมือนทหารหนีทัพ
กรรมาธิการคนหนึ่งของ EU บอกกับผู้สื่อข่าว VOA ว่า อังกฤษไม่เคยเต็มใจที่จะเป็นสมาชิกของ EU และนับวันก็มีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นอาจถึงเวลาที่อังกฤษควรจะออกไปแล้วก็ได้
แต่สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปจากประเทศโปแลนด์ Saryusz Wolski ให้ความเห็นว่า EU อาจจะด้อยลงทางเศรษฐกิจถ้าอังกฤษออกจาก EU และกล่าวแสดงความเสียดายว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะขาดคนกลางที่สำคัญระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี
ในขณะที่นอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ต่างมีข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ทั้งสองประเทศต้องยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับงบประมาณของ EU และอนุญาตให้พลเมืองของ EU เดินทางเข้าประเทศได้อย่างเสรีด้วย
คณะกรรมาธิการ EU คาดว่า อังกฤษจะขอให้ EU ยกเว้นทั้งสองข้อนั้นให้กับตน แต่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะยอมตามที่อังกฤษจะขอ
นักวิเคราะห์ของนิตยสาร Economist ให้เหตุผลว่า ถ้า EU ยอม ก็จะเป็นการส่งเสริมฝ่ายที่อยากให้ออก และทำให้ฝ่ายที่อยู่ต่อท้อแท้ใจ และว่าผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจาก EU จะกว้างไกลและยืดเยื้อ
George Irwin นักเศรษฐศาสตร์ของ Global Counsel บริษัทที่ปรึกษาเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ให้ความเห็นว่า การออกจาก EU และการทำข้อตกลงกันใหม่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU เต็มไปด้วยปัญหา
WATCH: EU Council President David Tusk reacts to vote
New chapter of uncertainty
ประเด็นใหญ่ที่กระทบการตัดสินใจของประชาชน
ประเด็นเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นใหญ่ต่อการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษ โดยผู้ที่อยากให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปรู้สึกไม่พอใจที่มีคนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ความไม่พอใจดังกล่าวยิ่งลุกลามขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ผู้อพยพทั่วยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้
กลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยประชากรอายุมากกว่า ซึ่งกังวลต่อขอบเขตอำนาจและการทำงานของสหภาพยุโรป รวมทั้งกลุ่มชนชั้นแรงงานที่มองว่า ผู้อพยพหรือแรงงานจากประเทศอื่นในสหภาพยุโรป เช่น โปแลนด์ ทยอยเข้ามาแย่งงานพวกตน
สถาบันวิจัย Pew Research Center สัมภาษณ์ประชาชนในยุโรปราว 10,000 คน ซึ่งคำตอบที่ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในยุโรปกำลังไม่แน่ใจต่อประสิทธิภาพของสหภาพยุโรป
ในฝรั่งเศส มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 38% เท่านั้นที่มีทัศนคติในแง่บวกต่อ EU ลดลงจากระดับ 69% เมื่อปี ค.ศ. 2004 ส่วนที่สเปน การยอมรับในสหภาพยุโรปลดลงจาก 80% เหลือ 47% ในการสำรวจล่าสุด
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การลงประชามติของชาวอังกฤษให้อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปอาจมีผลให้ประเทศอื่นตัดสินใจลงประชามติแบบเดียวกัน
ด้านคุณ Tim Oliver แห่ง London School of Economics ชี้ว่าเมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป บรรดาประเทศในสหภาพยุโรปอาจพยายามหาทางลงโทษอังกฤษในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
คุณ Tim Oliver กล่าวว่าอังกฤษไม่สามารถถอนตัวและสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับ EU โดยไม่มีผลกระทบอื่นๆ ตามมา เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเปรียบเสมือนเป็นการสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม
สำนักวิจัย Pew Research ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ยอมรับหรือสนับสนุนสหภาพยุโรปน้อยลง คือวิกฤติการณ์ผู้อพยพในยุโรป โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 94% บอกว่าไม่ยอมรับนโยบายคนเข้าเมืองของ EU หลังจากมีผู้อพยพเข้ายุโรปมากกว่า 1 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน ยังมีความมั่นใจว่าอังกฤษจะยืนได้อย่างแข็งแกร่งหลังออกจากอียู
นักวิชาการบางรายกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และอำนวยความสะดวกเรื่องการปล่อยเงินกู้ของธนาคาร
ผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตดีกว่าหากอังกฤษออกจากกลุ่มประเทศในภูมิภาค และอังกฤษจะไม่ต้องผูกพันตนเองกับระบบราชการที่มีศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่กรุง Brussels
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรเช่น IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ชี้ว่า การออกจากสหภาพยุโรปจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะความกังวลในเสถียรภาพของเศรษฐกิจต่อจากนี้อาจทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์และเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิง