Your browser doesn’t support HTML5
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ยังคงพยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด แม้ว่าเพิ่งพ่ายแพ้ในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการประกาศลาออกอย่างกระทันหันจากตำแหน่งทางการเมืองของนายโจ จอห์นสัน น้องชายของตนเอง
นายกฯ จอห์นสัน กล่าวปราศรัยที่ยอร์คเชียร์ในวันพฤหัสบดี ยืนยันว่าต้องมีการเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้น เพื่อที่ประชาชนจะมีโอกาสแสดงความเห็นว่าต้องการออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคม แม้ว่ายังไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้นหรือไม่
ผู้นำอังกฤษกล่าวด้วยว่า ตนจะไม่บากหน้าไปขอร้องสหภาพยุโรปให้ขยายเวลาการจัดทำข้อตกลงเรื่องการแยกตัวของอังกฤษอีก และว่าการชะลอเวลาออกไปนั้นไม่ช่วยอะไร นอกจากนี้เขายังกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าสนับสนุนร่างกฎหมายที่ลิดรอนอำนาจในการต่อรองของอังกฤษเอง
คำกล่าวของนายกฯ จอห์นสัน มีขึ้นหลังจากที่น้องชายของเขา นายโจ จอห์นสัน ทวีตข้อความประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย และสถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ ด้วยเหตุผลเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวและประเทศชาติ
การลาออกครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายกฯ จอห์นสัน เพิ่งขับ ส.ส. 21 คนออกจากพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ยังคงมีความเห็นต่างกันเรื่องการแยกอังกฤษออกจากยุโรป ว่าจำเป็นต้องมีการจัดทำข้อตกลงก่อนหรือไม่
เมื่อวันพุธ สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงมติในวันพุธด้วยคะแนนเสียง 329 ต่อ 300 รับรองร่างกฎหมายชะลอการแยกตัวจากอียูไปอีกสามเดือนหลังจากกำหนดเส้นตายเดิมคือวันที่ 31 ต.ค.นี้ เพื่อให้สามารถจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่ระบุเงื่อนไขการแยกตัวของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ในสภาอีกครั้งหนึ่งของนายกฯ จอห์นสัน
ในการลงคะแนนเสียงดังกล่าว มีสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมส่วนหนึ่ง ที่หันมาเข้ากับพรรคฝ่ายค้านเพื่อคัดค้านการแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือ No-deal Brexit รวมทั้ง ส.ส.นิโคลาส โซมเมส สมาชิกเก่าแก่ของพรรคอนุรักษ์นิยม
ส.ส.โซมเมส กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก No-deal Brexit และช่วยให้รัฐบาลและรัฐสภามีเวลามากขึ้นในการจัดการกับประเด็นนี้
เมื่อผ่านสภาล่างแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาและลงมติต่อไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องไปขอยืดเวลากับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นายจอห์นสันไม่ยินยอมปฏิบัติตาม
คุณเม็ก รัสเซลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก University College London ชี้ว่า หากนายกฯ จอห์นสัน ปฏิเสธที่จะทำตามกฎหมายนี้ เขาจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาล ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำอังกฤษควรทำ
ในวันพฤหัสบดี นายกฯ จอห์นสัน เป็นเจ้าภาพต้อนรับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวจากอียู และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะเจราจาการค้ากับอังกฤษทันทีที่อังกฤษแยกตัวออกมาแล้ว
และเมื่อวันพุธ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสนับสนุนนายกฯ อังกฤษเช่นกัน โดยบอกว่า "นายบอริสรู้วิธีเอาชนะศัตรูของเขา"
ฝ่ายที่คัดค้านเรื่อง No-deal Brexit หรือ Hard Brexit อ้างเหตุผลว่า การแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ จะเป็นผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่อง Hard Brexit แย้งว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายใดๆ หากมีจริงก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และอังกฤษจะสามารถปรับตัวรับมือได้ในที่สุด
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เกรงว่าความขัดแย้งทางการเมืองในอังกฤษขณะนี้ อาจกำลังกลายเป็นวิกฤติการในรัฐธรรมนูญของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น "ต้นกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา" ได้
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Wayne Lee และ Henry Ridgewell )