ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
'ฮาร์ด เบร็กซิต' อาจพบทางตัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันขู่ยุบสภา

'ฮาร์ด เบร็กซิต' อาจพบทางตัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันขู่ยุบสภา


Britain's Prime Minister Boris Johnson speaks to the media outside 10 Downing Street in London, Sept. 2, 2019. Johnson says chances of a Brexit deal are rising .
Britain's Prime Minister Boris Johnson speaks to the media outside 10 Downing Street in London, Sept. 2, 2019. Johnson says chances of a Brexit deal are rising .
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:13 0:00


นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน พบว่าเป้าหมายการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แม้จะไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือที่เรียกว่า Hard Brexit นั้นกำลังมีปัญหา

เพราะส.ส. อังกฤษฝ่ายที่ค้านเรื่องนี้สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้มากพอคือ 328 ต่อ 301 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และเตรียมจะลงคะแนนเพื่อออกกฎหมายห้ามนายกรัฐมนตรีจอห์นสันดำเนินการเรื่องดังกล่าว หรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไป

โดยฝ่ายที่ค้าน Hard Brexit ให้เหตุผลว่า หากอังกฤษแยกตัวออกมาโดยไม่มีข้อตกลงแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะพินาศย่อยยับ ซึ่งท่าทีและการรวมตัวของส.ส.กลุ่มดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ขู่ว่าตนไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องยุบสภาเพื่อการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด

ความเคลื่อนไหวของ ส.ส. อังกฤษ ที่คัดค้านเรื่อง Hard Brexit ตามกำหนดเดิมในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันซึ่งมีเสียงข้างมากเหลือเพียงแค่เสียงเดียว ต้องเสียเสียงข้างมากดังกล่าวไปหลังจากที่ ส.ส. ฟิลลิป ลี ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แปรพักตร์เมื่อวันอังคารไปร่วมออกเสียงกับพรรคฝ่ายค้านที่ต่อต้าน Hard Brexit

เมื่อวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้ประกาศว่า ถ้า ส.ส. ฝ่ายที่ค้าน Hard Brexit พยายามออกกฎหมายเพื่อปิดกั้นหรือผูกมัดตน ตนก็จะขออนุมัติต่อสภาในวันพุธให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดในวันที่ 14 ตุลาคม โดยคาดหวังว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนี้จะได้รับเลือกกลับเข้ามามีที่นั่งในสภามากกว่าในปัจจุบัน

ผลการสำรวจความนิยมพบว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นได้รับคะแนนนิยมนำหน้าพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านอยู่กว่าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจอห์นสันจะต้องได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 หรืออย่างน้อย 433 จาก 650 เสียงในสภาล่าง และเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคเลเบอร์ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่

ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษกำลังมีความแตกแยกอย่างหนักในเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยฝ่ายที่คัดค้านเรื่อง No-deal Brexit หรือ Hard Brexit อ้างเหตุผลว่า การแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ จะเป็นผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาชะงักงันทั้งเรื่องการเดินทางและการลำเลียงขนส่งอาหารกับเวชภัณฑ์ต่างๆ ไปยังอังกฤษ และทำให้ต้องกลับไปใช้มาตรการคุมเข้มที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งยังเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป

โดยรายงานลับของรัฐบาลอังกฤษที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมก็ดูจะยืนยันเรื่องนี้ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่อง Hard Brexit แย้งว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายใดๆ หากมีจริงก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และอังกฤษจะสามารถปรับตัวรับมือได้ในที่สุด

ในขณะที่อนาคตของทั้งเรื่อง Brexit และอนาคตของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังเต็มไปด้วยคำถาม ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษก็ชี้ว่า ปัญหาขัดแย้งในขณะนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ที่สำคัญของอังกฤษ นับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร ทำเนียบรัฐบาล และศาล

และไม่ว่าผลลัพธ์ของการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งนี้จะออกมาในรูปใด ก็เชื่อได้ว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอังกฤษในขณะนี้ จะต้องพบกับสภาพความเป็นจริงใหม่ที่เปลี่ยนไป หลังจากที่มี ส.ส.ระดับนำหลายคนไม่พอใจในแนวนโยบายและการจัดการกับปัญหาเรื่อง Brexit และได้แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่

XS
SM
MD
LG