ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักเศรษฐศาสตร์หวั่นธนาคารกลางทั่วโลกอาจไม่มีเครื่องมือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจซบเซา


please wait

No media source currently available

0:00 0:05:17 0:00

เท่าที่ผ่านธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มักมีบทบาทสำคัญช่วยรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

แต่ในขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเกรงว่า ธนาคารกลางซึ่งเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญด้านนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ อาจไม่สามารถทำอะไรได้มากนักจากการที่อัตราดอกเบี้ยของโลกอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว บวกกับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังโถมทับเข้ามาหลายด้าน นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ปัญหาเรื่อง Brexit รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปด้วย

ตัวอย่างเช่น เยอรมนี ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ตอนนี้ก็มีสัญญาณแสดงถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ลดลง

และเมื่อเดือนสิงหาคม กิจกรรมการผลิตทางอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ก็หดตัวนับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่วนในอังกฤษ ปัญหายืดเยื้อและความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับ Brexit เป็นผลให้การผลิตทางอุตสาหกรรมของอังกฤษหดตัวในอัตรามากที่สุดในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนสิงหาคม

และผู้ประกอบการในสหรัฐเองก็เริ่มปลดลดคนงานเพื่อเตรียมรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงปีหน้าเช่นกัน

ในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ซึ่งโอกาสที่จะได้รับเลือกกลับเข้ามาสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สองในปีหน้าขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นสำคัญ ได้เรียกร้องทางทวีตกว่า 30 ครั้งให้ระบบธนาคารกลางของสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

และระบบธนาคารกลางสหรัฐซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถทำงานโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง มีกำหนดจะประชุมด้านนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 18 กันยายนนี้ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้จะเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐขณะนี้แม้จะมีดัชนีบ่งชี้บางอย่างที่ทำให้น่ากังวล แต่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐนั้นค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และอัตราการว่างงานรวมทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ยังเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องการชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อนจนกว่าจะมีสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจน

เพราะการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในช่วงที่ยังไม่จำเป็น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิผลเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงจริง

แต่จากเงื่อนไขและสภาพเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์รวมทั้งผู้บริหารธนาคารกลางของหลายประเทศ เริ่มกังวลว่าเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยฉุดเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยในยุโรปและญี่ปุ่นขณะนี้ต่ำจนอยู่ในแดนลบอยู่แล้ว

คนหนึ่งที่มีความเห็นในแนวนี้ คือ ผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษ ที่ชี้ว่า มาตรการผ่อนคลายนโยบายด้านการเงินและการลดอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะป้องกันภาวะเศรษฐกิจหดตัวได้

นอกจากนั้น ปัญหาเรื้อรังอีกด้านหนึ่งของหลายประเทศในขณะนี้ คือ หนี้สาธารณะ หรือหนี้ภาครัฐ ที่เป็นภาระหนักของรัฐบาลหลายประเทศจากการออกพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ภาระหนี้ที่ว่านี้หากมีสัดส่วนมากเกินไป และไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะส่งผลให้ค่าเงินตราของประเทศนั้นตกต่ำลงและสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจซ้ำสองได้

จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน นาย Mohamed El-Erian ประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของบริษัท Allianz ได้ยกตัวอย่างว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนกับการที่ผู้บริหารเศรษฐกิจของโลกกำลังขับรถบนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อโดยไม่มียางอะไหล่ โดยผู้บริหารเหล่านี้กำลังภาวนาว่า จะไม่มียางเส้นใดที่แตกหรือเกิดระเบิดขึ้นก่อนที่จะวิ่งพ้นจากถนนขรุขระเส้นนี้

XS
SM
MD
LG