ผู้บริหารของบริษัทโบอิ้งยืนยันว่า การที่จีนสามารถประกอบเครื่องบินของตนเองได้ไม่จำเป็นที่จะหมายความว่า บริษัทจะมีคู่แข่งรายใหม่ในตลาดเครื่องบินที่ปัจจุบันมีเพียงผู้ผลิตสองรายครองอยู่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
เดฟ แคลฮูน ซีอีโอของโบอิ้ง (Boeing Co.) ไม่คิดว่า ความสำเร็จของจีนในการผลิตเครื่องบินลำตัวแคบ รุ่น C919ได้และเปิดตัวให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ จะกลายมาเป็นการเริ่มต้นของจุดจบการเป็นหนึ่งในสองผู้ผูกขาดตลาดการผลิตเครื่องบินโลกร่วมกับบริษัทแอร์บัส (Airbus SE) จากยุโรปแต่อย่างใด
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส (China Eastern Airlines) นำพาผู้โดยสาร 130 คนเดินทางจากนครเซี่ยงไฮ้ไปยังกรุงปักกิ่งด้วยเครื่องบิน C919 ซึ่งผลิตโดยบรรษัทการบินพาณิชย์ของจีน หรือ COMAC (Commercial Aviation Corporation of China) ได้อย่างราบรื่น และถือเป็นหลักชัยสำคัญของจีนในการก้าวเท้าเข้ามาในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน
SEE ALSO: เครื่องบินโดยสาร 'เมด อิน ไชน่า' ลำแรก เริ่มให้บริการแล้วในเรื่องนี้ แคลฮูน กล่าวว่า เครื่องบินของจีนนั้นเป็น “เครื่องบินที่ดี” แต่มันต้องใช้ “เวลาอีกนาน” กว่า COMAC จะมีความสามารถการผลิตมากพอเพื่อตอบสนองความต้องการของสายการบินจีนทั้งหมด
ซีอีโอของโบอิ้ง ระบุด้วยว่า “ผู้ผลิต 3 รายในตลาดโลกที่ขยายตัวระดับที่เป็นอยู่ไม่ควรเป็นประเด็นเครียดสมองหนักที่สุดในโลกเลย” และว่า “สำหรับเราแล้ว การจะมากระวนกระวายใจมากไป ผมคิดว่า มันเหลวไหลไปนะ”
แควฮูน กล่าวด้วยว่า โบอิ้งควรจะมุ่งเน้นไปที่สภาพการแข่งขันในปัจจุบัน และวางจุดยืนของบริษัท “ให้มีชัยในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี” พร้อมชี้ว่า จีนยังคงจะเป็น “เพื่อนของเรา ลูกค้าของเรา” แต่ธุรกิจนั้นก็อาจเป็นไปแบบ “ติด ๆ ดับ ๆ” ได้ เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ดังที่ดำเนินอยู่
ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สายการบินของจีนได้เริ่มกลับมาใช้เครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ เพื่อให้บริการผู้โดยสารอีกครั้งแล้ว แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่ราบรื่นนัก เพราะการนำส่งเครื่องที่สายการบินทั้งหลายสั่งยังประสบภาวะหยุดชะงัก ในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนยังมีความขัดแย้งกันอยู่
- ที่มา: รอยเตอร์