ที่ประชุม COP28 ยังเห็นต่างเรื่องอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแสดงจุดยืนที่การประชุม COP28 ที่นครดูไบ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2023

บรรดาผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่การเจรจาดำเนินมาถึงขั้นสุดท้าย

คำถามสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ คือ ประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศจากทั่วโลกควรเห็นพ้องกันให้ยุติการใช้น้ำมันอย่างถาวรเป็นครั้งแรกหรือไม่

ชาติพันธมิตรกว่า 80 ประเทศที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก พยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงที่ระบุถึงการ "เลิกใช้" น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน แต่ต้องถูกต่อต้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันต่าง ๆ

แถลงการณ์ของกลุ่มโอเปก (OPEC) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ขอให้ชาติสมาชิกโอเปกคัดค้านแถลงการณ์จากการประชุม COP28 ที่มีเป้าหมายยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยทางโอเปกต้องการให้ที่ประชุมมุ่งไปที่การลดปริมาณก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด

ด้านผู้แทนจากจีน สี เจิ้นหัว กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า การประชุม COP28 ครั้งนี้จะถือว่าประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีข้อตกลงที่เกี่ยวกับการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกมา แม้ว่าทางจีนยังมิได้แสดงจุดยืนว่าจะสนับสนุนการยกเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่ก็ตาม

ขณะนี้ที่ประชุมเหลือเวลาอีกเพียงสองวันในการหารือ ก่อนที่การประชุมจะสิ้นสุดลงในวันอังคารนี้ แต่ดูเหมือนผู้แทนการประชุมจะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทั้งในเรื่องการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ การลดการใช้ถ่านหิน และการควบคุมก๊าซมีเทน

ในวันอาทิตย์ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ (International Energy Agency) กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 4,000 ล้านตันภายในปี 2030 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของสนธิสัญญากรุงปารีสที่ให้จำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม

  • ที่มา: รอยเตอร์