ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่กำลังดำเนินอยู่ที่นครดูไบ ผู้สังเกตการณ์ของรัฐบาลจีนออกมานำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีช่องโหว่มากมายเพื่อกลบเกลื่อนการเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งแสดงความรับผิดชอบด้านระบบนิเวศของโลก
การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของเหล่าผู้นำโลกที่งาน COP28 คือ โอกาสอีกครั้งที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อ 8 ปีก่อนที่การประชุม COP21 ที่กรุงปารีสและเกือบ 200 ประเทศให้คำมั่นที่จะทำการจำกัดการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับที่บันทึกได้ก่อนยุคอุตสาหกรรม
ที่ประเทศจีน วิคเตอร์ เกา รองประธานศูนย์จีนและโลกาภิวัฒน์ (Center for China and Globalization) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง แย้งว่า ประเทศพัฒนาแล้วต่างหากที่เป็นผู้ก่อมลพิษมากกว่า และก็ควรเป็นผู้ที่แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าคนอื่นด้วย
ในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ (Global Times) ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกา ระบุว่า :
“จากมุมมองด้านประวัติศาสตร์ ประเทศพัฒนาแล้วนั้นคือผู้ที่ก่อมลพิษมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย พวกเขาจึงควรลงมือทำการต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”
นั่นเป็นข้อมูลที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด
คำกล่าวที่ว่านั้นมีความจริงอยู่บ้าง เพราะว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เริ่มต้นมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อนนั้นคือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้
แต่การผูกเรื่องเล่าดังข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของจีนที่ว่า ประเทศอุตสาหกรรมล้ำสมัยทั้งหลายต่างหากที่ควรจะเป็นผู้รับความผิดชอบก้อนใหญ่ต่อการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กับการทำตัวเมินเฉยที่ว่า เมื่อย้อนมองดูประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่าจีนเองก็ไม่ได้เป็นประเทศที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย
ในช่วงระหว่างปี 1850 และ 2021 นั้น จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงราว 284,000 ล้านตัน ตามข้อมูลของ Carbon Brief ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยตัวเลขของจีนนั้นสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากสถิติ 509,000 ล้านตันของสหรัฐฯ ที่บันทึกได้ในช่วงเดียวกัน
บทวิเคราะห์ของ Carbon Brief ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองของจีนที่มีถ่านหินเป็นตัวผลักดันนับตั้งแต่ปี 2000 มา คือ สาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศนี้ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้ดังเช่นในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2019 มา จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าปริมาณรวมที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ปล่อยออกมาทุกปี ทำให้ประเทศนี้กลายมาเป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว ตามรายงานเมื่อปี 2021 ของ Rhodium Group ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองด้านเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน
องค์กรแห่งนี้ยังออกประมาณการใหม่ที่ชี้ว่า ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศคือ ผู้ที่ปล่อย 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกที่โลกทั้งโลกปล่อยออกมาในปี 2022 โดยจีนคือ ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่สุดด้วยสัดส่วน 26% ของปริมาณที่มีการปล่อยออกมาทั่วโลก ตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสัดส่วน 12% และอินเดียด้วยตัวเลข 7% ขณะที่ ประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปรวมกันแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 7% ของจำนวนที่มีการปล่อยออกมาจากทั่วโลกในปี 2022
นอกจากนั้น สมมติฐานว่า จีนนั้นน่าจะมีส่วนรับผิดชอบภาระด้านระบบนิเวศของโลกน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะตนไม่ใช่ประเทศ “พัฒนาแล้ว” ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะกำลังความสามารถทางเศรษฐกิจของจีนนั้นพุ่งทะยานสูงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ประเทศนี้กลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เท่านั้น
องค์การสหประชาชาติทำการจัดอันดับประเทศต่าง ๆ โดยอ้างอิงเกณฑ์ที่เรียกว่า HDI หรือ Human Development Index
และในการประเมินล่าสุด ยูเอ็นจัดอันดับ HDI ของจีนให้อยู่ในระดับ “สูง” โดยอยู่ในลำดับที่ 79 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ขณะที่ ประเทศผู้ก่อมลพิษอันดับต้น ๆ อีก 2 รายซึ่งก็คือ สหรัฐฯ และอินเดีย อยู่ในลำดับที่ 21 และ 132
ต่อไปนี้คือ รายละเอียดของสิ่งที่ 3 ผู้ก่อมลพิษอันดับต้น ๆ ของโลกวางแผนไว้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จีน
จีนทำการลงทุนอย่างมหาศาลในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พร้อมประกาศว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนจะพุ่งถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 และจะทำให้ความเป็นกลางทางคาร์บอน (การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณที่ถูกดูดซับคืนมา” ภายในปี 2060
แต่เป้าหมายดังกล่าวก็เผชิญความท้าทายจากภาวะอุณหภูมิสุดขั้ว ภาวะแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี และน้ำท่วมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ในปี 2022 รัฐบาลกรุงปักกิ่งประสบความล้มเหลวในการรักษาปริมาณพลังงานไฟฟ้าให้คงที่ในช่วงวันที่มีอากาศร้อนที่สุดของปี และยังล้มเหลวในการรับมือกับภาวะไฟดับ โดยหันกลับไปพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินอีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของจีน
กลุ่มกรีนพีซกล่าวไว้ในเดือนสิงหาคมว่า ทางการจีนอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมกันอย่างน้อย 50.4 กิกะวัตต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 โดยการคำนวณคร่าว ๆ พบว่า เท่ากับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินสัปดาห์ละ 2 แห่งเลยทีเดียว
ทั้งนี้ Global Energy Monitor (GEM) ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในนครซานฟรานซิสโก อธิบายว่า ปริมาณไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์นั้นมีค่าเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาดใหญ่ 1 แห่ง
GEM กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน จีนกำลังพิจารณาออกใบอนุญาตหรือให้เริ่มการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินอยู่ทั้งหมด 306 แห่ง
ฟลอรา แชมปีนัวส์ นักวิเคราะห์งานวิจัยของ GEM กล่าวว่า “การเดินหน้าออกใบอนุญาตการใช้พลังงานถ่านหินเพิ่มนั้นจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการปล่อย[ก๊าซเรือนกระจก]จำนวนมหาศาล หรือ ไม่ก็การที่โรงงานหลายแห่งตกอยู่ในภาวะไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ก็ ภาวะขาดทุน และการที่ระบบผลิตไฟฟ้าจะต้องพึ่งพาถ่านหินลากนานออกไปอีก
ส่วน Climate Action Tracker หรือ CAT ซึ่งเป็นกลุ่มงานวิจัยที่ติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 40 ประเทศ จัดอันดับความพยายามด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของจีนไว้ที่ “ไม่เพียงพออย่างมาก” ขณะที่ “รัฐบาลยังคงสนับสนุนบทบาทของเชื้อเพลิงฟอสซิลในการเปลี่ยนถ่ายภายในธุรกิจพลังงาน โดยการเพิ่มขึ้นของการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นถูกมองว่าเป็น กุญแจสำคัญในการทำให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ(ของจีน)”
โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินและโรงงานเหล็กแบบครบวงจรใหม่ ๆ นั้นมีอายุการใช้งานตามปกติที่ 20-40 ปี และจะยิ่งทำให้ธุรกิจพลังงานนั้นผูกติดกับการพึ่งพาถ่านหินนานขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย
สหรัฐฯ
ตามประวัติศาสตร์นั้น สหรัฐฯ คือ ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ตอนนี้ ถูกจัดให้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซ 590,000 ล้านตันในแต่ละปี
ในปี 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลง 50%-52% ภายในปี 2030 ซึ่งสูงกว่าระดับที่สหรัฐฯ เคยสัญญาไว้ภายใต้ความตกลงปารีสถึงกว่า 2 เท่า ขณะที่ ตั้งเป้าไว้ด้วยว่า จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 ด้วย
กลุ่มงานวิจัย CAT จัดความพยายามของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ที่ระดับ “ไม่เพียงพอ” พร้อมกล่าวว่า ณ ปี 2022 สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จทำตามเป้าหมายของตนได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น แต่ก็มีการระบุว่า การผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act ในปี 2022 ทำให้เกิดเงินลงทุนไหลเข้าไปในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทำให้เกิด “การลดลงที่ชัดเจนมากขึ้นของการปล่อยก๊าซจนกระทั่งปี 2030 ... แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะไปให้ถึงเป้าหมายการลด 50%-52% ให้ต่ำกว่าระดับในปี 2005 ให้สำเร็จภายในปี 2030”
ภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act สหรัฐฯ จะต้องลงทุนเป็นเงิน 370,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีต่อมา ในการผลิตไฟฟ้าจากลม แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล
รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นมาเลย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) และยังได้ลดการใช้ถ่านหินลงแล้วครึ่งหนึ่ง พร้อม ๆ กับเพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนด้วย
อินเดีย
เมื่อปี 2021 รัฐบาลกรุงนิวเดลีสัญญาที่จะผลักดันให้ครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าใช้แหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2023 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2070
และในการหารือกับปธน.ไบเดน ในเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวว่า อินเดียคือประเทศสมาชิกกลุ่มจี20 เพียงประเทศเดียวที่ได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ภายใต้ความตกลงปารีส
เรื่องนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว
ข้อมูลจากรายงานเมื่อปี 2022 โดย Climate Policy Initiative ระบ่า มีการปรับเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนไปยังธุรกิจสีเขียวถึง 150% นับตั้งแต่อินเดียประกาศคำมั่นในปี 2021 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “การสนับสนุนเชิงบวกต่อนโยบายหลักนั้นทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของการลงทุนได้จริง”
กลุ่มงานวิจัย CAT ยังกล่าวสรรเสริญความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญของอินเดียในการเสริมสร้างความสามารถด้านพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งรวมถึง การนำเสนอสิ่งจูงใจให้มีการดำเนินนโยบายมุ่งพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานแสดงอาทิตย์ด้วย
แต่เช่นเดียวกับจีน ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า การที่อินเดียพึ่งพาพลังงานถ่านหินนั้นยังคงเป็นตัวถ่วงความพยายามให้ไปถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของตนอยู่
เนชวิน รอดริเกซ นักวิเคราะห์ด้านนโยบายพลังงานไฟฟ้าจาก Ember ซึ่งเป็นองค์การคลังสมองด้านพลังงานโลก บอกกับสื่อ CNBC ว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของแหล่งพลังงานของอินเดีย ทำให้ “นี่เป็นเชื้อเพลิงประเทศเดียวที่อินเดียมีใช้อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์”
ข้อมูลจากกระทรวงถ่านหินของอินเดียแสดงให้เห็นว่า การผลิตถ่านหินของประเทศนี้เพิ่มขึ้นกว่า 14% ในปีนี้ (2023)
และในรายงานล่าสุดที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนี้ กลุ่มงานวิจัย CAT จัดอันดับความสำเร็จโดยรวมของอินเดียในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่ “ไม่เพียงพออย่างมาก” โดยนอกเหนือจากประเด็นการพึ่งพาถ่านหินแล้ว กลุ่มงานนี้แย้งว่า แผนงานปัจจุบันของรัฐบาลอินเดียไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ชัดเจนด้วย