ผู้นำสหรัฐฯ-เยอรมนี หารือสงครามยูเครน-ท่ามกลางความกังวลกรณีจีน

Biden meets German Chancellor Scholz at the White House in Washington

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี ที่เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ในวันศุกร์ เพื่อหารือประเด็นเป็นการส่วนตัวกรณีสงครามในยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

การพบกันของผู้นำทั้งสองครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่ สงครามในยูเครนกำลังเข้าสู่ระดับที่มีความรุนแรงอีกขั้น ท่ามกลางความกังวลว่า ชาติพันธมิตรจะตัดสินใจลดการส่งมอบความช่วยเหลือมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้กับกองทัพกรุงเคียฟอยู่

อย่างไรก็ดี นายกฯ โชลซ์ กล่าวระหว่างการร่วมแถลงข่าวที่ห้องทำงาน Oval Office ที่ทำเนียบขาวกับปธน.ไบเดนว่า “นี่คือปีที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นเพราะภัยคุกคามอันตรายต่อสันติภาพที่มาจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน”

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนและนายกฯ โชลซ์ กล่าวว่า ทั้งสองจะเดินหน้าทำงาน “ด้วยการก้าวไปพร้อม ๆ กัน” และผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีเยอรมนีสำหรับความช่วยเหลือใน “การรักษาแรงกดดัน” ต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และสำหรับ “ความเป็นผู้นำอันมั่นคงและแข็งแกร่ง” ของผู้นำรัฐบาลเบอร์ลิน รวมทั้งการสนับสนุนยูเครนด้วย

ปธน.ไบเดน กล่าวด้วยว่า “ในฐานะพันธมิตรนาโต้ เรากำลังทำให้พันธมิตรนี้แข็งแกร่งขึ้น”

อย่างไรก็ดี การแถลงข่าวก่อนการประชุมแบบส่วนตัวนี้ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของจีน แม้ว่าที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ว่า อาจจะตัดสินใจนำส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธให้กับรัสเซีย

SEE ALSO: จีน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และสงครามในยูเครน

ในกรณีดังกล่าว หากเกิดขึ้นจริง จะเปลี่ยนทิศทางของสงครามที่ดำเนินมากว่าปีนี้ เพราะกองทัพมอสโกจะได้รับอาวุธมาเสริมกำลังเพิ่มเติมส่วนที่พร่องไปจากการรบ

คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวก่อนสองผู้นำจะเริ่มประชุมว่า การหารือในครั้งนี้จะเน้นเรื่องของการประสานงานการช่วยเหลือยูเครนและส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงเบอร์ลินไม่เคยมีหลักฐานที่พิสูจน์ว่า จีนได้นำส่งอาวุธให้รัสเซีย ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีการจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่

จีนนั้นเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับต้น ๆ ของเยอรมนี ขณะที่ ชาติยุโรปเองพยายามใช้ความระมัดระวังมากกว่าสหรัฐฯ เมื่อต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวใด ๆ ต่อกรุงปักกิ่ง แต่ในเวลานี้ เริ่มมีสัญญาณว่า จุดยืนดังกล่าวอาจจะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะภาวะการแข่งขันในเวทีโลกที่เริ่มรุนแรงขึ้น

ครั้งสุดท้ายที่นายกฯ โชลซ์ เยือนทำเนียบขาวคือ ก่อนรัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว และเมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำเยอรมนีเพิ่งเรียกร้องให้จีนอย่าส่งอาวุธให้กับรัสเซีย พร้อมขอร้องให้กรุงปักกิ่งร่วมกดดันกรุงมอสโกให้ถอนทหารออกจากยูเครนด้วย

จีนนั้นปฏิเสธมาตลอดว่า มีแผนจะช่วยติดอาวุธให้รัสเซีย พร้อม ๆ กับเตือนชาติตะวันตกที่นำส่งอาวุธให้ยูเครนว่า การให้การสนับสนุนเช่นนั้นจะไม่ทำให้เกิดสันติภาพ และมีแต่จะ “เติมเชื้อเพลิงลงไปในกองไฟ”

ขณะเดียวกัน ที่กรุงวอชิงตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ประกาศความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่ให้แก่ยูเครน มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ ทำให้มูลค่ารวมของความช่วยเหลือทั้งหมดที่สหรัฐฯ ให้แก่ยูเครน เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 32,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

  • ที่มา: รอยเตอร์และเอพี