ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และสงครามในยูเครน


FILE - Russian President Vladimir Putin holds a meeting with Chinese President Xi Jinping via a video link at the Kremlin in Moscow, Dec. 30, 2022. (Mikhail Klimentyev / Sputnik / AFP)
FILE - Russian President Vladimir Putin holds a meeting with Chinese President Xi Jinping via a video link at the Kremlin in Moscow, Dec. 30, 2022. (Mikhail Klimentyev / Sputnik / AFP)

เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่รัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครน และวันนี้ก็เริ่มมีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับจุดยืนของจีนในการความช่วยเหลือทางทหารแก่กรุงมอสโก หลังผู้นำของทั้งสองประเทศประกาศย้ำความเป็นหุ้นส่วน “แบบไร้ขีดจำกัด” ไม่นานก่อนสงครามครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้น

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่มีการแพร่ภาพออกมาเมื่อวันอาทิตย์ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนกำลังพิจารณาส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธและกระสุนให้กับรัสเซีย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า จะเป็น “ปัญหาร้ายแรง”

China Russia Energy Ties
China Russia Energy Ties

และเมื่อวันจันทร์ หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ว่า “ทำการโหมไฟและจี้ให้เกิดการเผชิญหน้า” ด้วยการนำส่งอาวุธเพื่อการป้องกันตนเองให้ยูเครน และกล่าวว่า กรุงปักกิ่งจะ “ไม่ยอมรับการชี้นิ้ว(ของสหรัฐฯ) หรือแม้แต่การบีบบังคับและแรงกดดันต่อความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย เป็นอันขาด”

จีนให้การสนับสนุนรัสเซียหรือไม่อย่างไร

จีนนั้นพยายามเดินเกมด้วยความระมัดระวังในประเด็นสงครามยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งให้การสนับสนุนด้านการทูตแก่รัฐบาลมอสโกด้วยการหลีกเลี่ยงการประณามการกระทำของรัสเซีย หรือเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การรุกราน” ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่เครมลินพยายามย้ำว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซียเอง

และขณะที่จีนพยายามเรียกร้องให้เกิดสันติภาพมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กลับยืนเคียงข้างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มาโดยตลอด ด้วยการปฏิเสธแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้โดดเดี่ยวรัสเซีย

Russian frigate Admiral Gorshkov ahead of scheduled naval exercises with South African and Chinese navies in Richards Bay
Russian frigate Admiral Gorshkov ahead of scheduled naval exercises with South African and Chinese navies in Richards Bay

แม้จะไม่มีหลักฐานว่า จีนได้ส่งอาวุธหรือความช่วยเหลือทางทหารให้รัสเซีย กองทัพของทั้งสองมีการเข้าร่วมการซ้อมรบทางทหารกันบ้าง ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนมา โดยครั้งล่าสุด ทั้งสองประเทศส่งเรือรบเข้าร่วมซ้อมรบกับกองทัพเรือแอฟริกาใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้

นอกจากนั้น จีนยังยกระดับการทำการค้ากับรัสเซีย โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานที่ทำให้มอสโกยังพอมีรายได้มาค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกอยู่

ต้นทุนจีนที่ต้องจ่ายเพื่อสนับสนุนรัสเซีย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การสนับสนุนรัสเซียโดยจีนนั้นทำให้ความรู้สึกดี ๆ ที่ชาติตะวันตกมีให้กับจีนเสียหายหนัก ทั้งยังทำให้ความพยายามของกรุงปักกิ่งที่จะทำให้ยุโรปและสหรัฐฯ แตกแยกไม่เกิดขึ้นดังหวัง

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านการทูตกล่าวว่า การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียก็ทำให้จีนตกอยู่ในสภาพทำตัวไม่ถูกและต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง เพราะปธน.ปูติน ไม่ได้เตือนปธน.สี มาก่อนว่าจะดำเนินการรุกรานยูเครนระหว่างที่ทั้งสองพบกันที่กรุงปักกิ่ง ก่อนจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปีที่แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามนี้ทำให้จีนกระอักกระอ่วน เพราะหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของจีนก็คือ การให้ความเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่น ๆ

จีนได้อะไรจากเรื่องนี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สงครามครั้งนี้ทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น และทำให้มอสโกกลายมาเป็นหุ้นส่วนรองของจีนพร้อม ๆ กับทำให้สถานะความเป็นผู้นำของจีนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อต้านความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกนั้น ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นด้วย

อเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ นักวิชาการอาวุโสจาก Carnegie Endowment for International Peace ให้ความเห็นว่า “จีนนั้นมีจุดมุ่งหมายหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ... จบ... รัสเซียที่อ่อนแอ น่าจะเป็นรัสเซียที่ดีกว่าในด้านผลประโยชน์ต่อพวกเขา (จีน)”

Russia Energy Revenue
Russia Energy Revenue

ข้อมูลจาก Refinitiv ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บข้อมูลตลาดการเงินและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ระบุว่า จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียในราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก จนทำให้มูลค่าเฉลี่ยการนำเข้ารายวันเพิ่มขึ้นราว 45% ตั้งแต่ช่วงหลังเกิดสงครามจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

และเนื่องจากจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ มายังพื้นที่ทะเลจีนใต้อยู่แล้ว การออกมาร่วมปฏิเสธการเพิ่มจำนวนสมาชิกองค์การนาโต้เข้าไปภูมิภาคที่รัสเซียมองว่าเป็นเหมือน “สวนหลังบ้าน” ของตน ก็เป็นการแสดงท่าทีต่อต้านกิจกรรมใด ๆ ก็ตามของสหรัฐฯ ในภูมิภาครอบ ๆ จีนด้วย

ความเป็นพันธมิตร “ไร้ขีดจำกัด” มีจริงหรือ

จีนนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการนำส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอาวุธ ให้กับรัสเซียเพื่อไม่ให้ตนต้องเจอกับมาตรการลงโทษจากนานาชาติ แต่ก็ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อคำเตือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ว่า กรุงปักกิ่งไม่ควรส่งอาวุธให้รัสเซียด้วย

นอกจากนั้น กรุงปักกิ่งยังพยายามใช้วาทศิลป์ที่มุ่งสร้างระยะห่างระหว่างตนกับกรุงมอสโก เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับชาติตะวันตกเสียหายจนฟื้นฟูลำบาก แต่ก็ใช้อิทธิพลของตนที่มีต่อมอสโกในการเรียกร้องให้ปธน.ปูติน ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

จุดยืนของจีนเรื่องสงครามยูเครนเปลี่ยนไปหรือไม่

จีนออกมาแสดงบทบาทในเวทีสาธารณะอย่างแข็งขันมากขึ้น หลังออกตัวสนับสนุนการเจรจาสันติภาพเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่ได้ลงมือทำการใด ๆ อย่างจริงจัง

ในวันศุกร์นี้ มีการคาดกันว่า ปธน.สี แห่งจีนจะขึ้นกล่าว “ปราศรัยว่าด้วยสันติภาพ” ในวันครบรอบ 1 ปีสงครามยูเครน และรัฐบาลจีนก็น่าจะตีพิมพ์รายงานว่าด้วยจุดยืนของตนในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียด้วย

China's Director of the Office of the Central Foreign Affairs Commission Wang Yi shakes hands with Hungarian Foreign Minister Peter Szijjarto in Budapest, Hungary, February 20, 2023. REUTERS/Bernadett Szabo
China's Director of the Office of the Central Foreign Affairs Commission Wang Yi shakes hands with Hungarian Foreign Minister Peter Szijjarto in Budapest, Hungary, February 20, 2023. REUTERS/Bernadett Szabo

ยุน เซน นักวิชาการอาวุโสจาก Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “ด้วยความล้มเหลวของรัสเซียในสนามรบ โอกาสที่จะเกิดการเจรจาก็เริ่มสุกงอมขึ้นแล้ว ในสายตาของจีน” และว่า “การทูตแบบเดินสายโดย(ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของปธน.สี จิ้นผิง) หวัง อี้ และคำปราศรัยของ(ปธน.)สี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชี้นำไปในทิศทางที่ว่า”

ในกรณีของ รมต.หวัง นั้น ยุน เซน พูดถึงการที่เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงของจีนเพิ่งเดินทางเยือนกรุงมอสโกในสัปดาห์นี้ หลังพบกับรมต. บลิงเคน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลตะวันตกรายอื่น ๆ ในการเยือนนานาประเทศในยุโรปที่ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้

สงครามยูเครนกระทบเจตนาของจีนต่อไต้หวันหรือไม่

กรุงปักกิ่งเฝ้าปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างสงครามในยูเครนและความตั้งใจของตนที่จะ “รวมชาติ” กับไต้หวันที่ตนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด

ในวันอังคารนี้เอง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง เรียกร้อง “บางประเทศ” ให้ “หยุดสร้างกระแสที่ว่า ‘วันนี้ ยูเครน – พรุ่งนี้ ไต้หวัน” ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการส่งข้อความให้สหรัฐฯ

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า จีนน่าจะกำลังชั่งน้ำหนักทั้งเรื่องของความพ่ายแพ้ของรัสเซียในยูเครน และเสียงตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ร่วมกับประเด็นแผนการณ์ของตนต่อไต้หวัน ซึ่งกรุงปักกิ่งเคยออกมาให้คำมั่นว่า จะยึดครองให้ได้แม้ต้องใช้กำลัง หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ยุน เซน นักวิชาการอาวุโสจาก Stimson Center กล่าวว่า “ผลลัพธ์และต้นทุนของสงครามแสดงให้จีนเห็นว่า การรุกรานไต้หวันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก” และว่า “นั่นไม่ได้หมายความว่า (จีน)จะหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการเช่นนั้น ถ้าหากไต้หวันเกิดประกาศอิสรภาพขึ้นมา แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นมีอยู่น้อยกว่ามาก”

  • ที่มา: รอยเตอร์และเอพี
XS
SM
MD
LG