Your browser doesn’t support HTML5
รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดแรกต่อเกาหลีเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการเดินหน้าเชิงสัญลักษณ์ของรัฐบาลอเมริกัน มากกว่าที่จะมีผลกระทบต่อโครงการนิวเคลียร์หรือเปลี่ยนแปลงการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลกรุงเปียงยางได้
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว สำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างประเทศ (OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลส่วนหนึ่งในเกาหลีเหนือซึ่งเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง สำนักงานอัยการกลางเกาหลีเหนือ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน ลี ยอง กิล ผู้เคยนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงทางสังคม ซึ่งดูแลสถานกักกันนักโทษทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังรวมถึงมหาวิทยาลัย European Institute Justo ในกรุงมอสโก ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าให้การสนับสนุนด้านหนังสือเดินทางแก่ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากให้เข้าไปทำงานในรัสเซียและส่งเงินกลับประเทศเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และบริษัทผลิตแอนิเมชั่น SEK Studio ในเกาหลีเหนือ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อว่ามีส่วนในการสนับสนุนธุรกรรมการเงินของรัฐบาลกรุงเปียงยางด้วย
SEE ALSO: วิเคราะห์: ครบรอบ 10 ปี คิม จองอึน ครองอำนาจ กับทางเลือกในการปกครองเกาหลีเหนือ
นอกจากเกาหลีเหนือแล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังได้ระบุรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลในประเทศจีน เมียนมา และบังกลาเทศ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเหล่านั้นด้วย
การประกาศรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายถูกใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่จากสหรัฐฯ มีขึ้นตรงกับวันสิทธิมนุษยชนโลก (International Human Rights Day) และเป็นวันที่สองของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพ และมีผู้แทนจากมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมประชุมผ่านวิดีโอออนไลน์ที่ทำเนียบขาว ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคมที่ผ่านมา
โจชัว สแตนตัน ทนายความในกรุงวอชิงตัน ผู้เคยร่วมร่างกฎหมายกำหนดมาตรการลงโทษต่อเกาหลีเหนือเมื่อปี ค.ศ. 2016 กล่าวว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้เป็นส่วนผสมของการลงโทษสถานเบาและการกระทำเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
"นี่เป็นวิธีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ใช้เพื่อส่งสัญญาณว่า สิ่งที่เกาหลีเหนือทำอยู่นั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งสหรัฐฯ พยายามต่อสู้อยู่" นายสแตนตันกล่าว
SEE ALSO: “บลิงเคน” ย้ำส่งเสริมภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี
ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือถูกมองว่าใช้วิธีการหลายอย่างที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการจับกุมคุมขังและทำทรมานนักโทษภายในค่ายกักกันผู้เห็นต่างทางการเมือง
ทางด้านนายแอนโธนี รักเจียโร นักวิชาการที่ Foundation for Defense of Democracies กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการรวมเกาหลีเหนือเข้าไปอยู่ในมาตรการลงโทษที่ออกแบบมาสำหรับ "วันสิทธิมนุษยชน" ซึ่งแท้จริงแล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนควรเพิ่มมาตรการลงโทษต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเพื่อกดดันรัฐบาลของผู้นำคิม จอง อึน เข้าสู่การเจรจาด้านนิวเคลียร์มากกว่า
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เน้นย้ำว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นอันดับแรก และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้จัดทำรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่เข้าข่ายถูกห้ามเข้าสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาต่างหากด้วย
ซู คิม แห่ง RAND Corporation อดีตนักวิเคราะห์ของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ กล่าวว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะไม่มีผลกระทบมากนักต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคียร์ของผู้นำคิม จอง อึน เนื่องจากโครงการดังกล่าวคือสิ่งที่รับรองสถานะความเป็นผู้นำของคิม จอง อึน และรัฐบาลเปียงยางจะสามารถหาช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษนี้ได้เสมอ
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า การจะทำให้มาตรการลงโทษสัมฤทธิผลได้นั้น จำเป็นต้องมุ่งเป้าไปที่ผู้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือด้วย รวมถึงประเทศที่สาม เช่น จีนและรัสเซีย เป็นต้น
ทางด้าน เคน กอส นักวิเคราะห์แห่ง CNA ชี้ว่า การใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือจะยิ่งทำให้เปียงยางต้องพึ่งพาจีนมากขึ้น และยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยลงที่เกาหลีเหนือจะยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ โดยผู้เชี่ยวชาญผู้นี้คิดในมุมกลับว่า การให้ผลประโยชน์หรือผ่อนคลายการลงโทษน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
ขณะเดียวกัน สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันได้ออกมาปฏิเสธและประณามสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่เข้าข่ายถูกใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่เมื่อวันศุกร์ โดยระบุว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ละเมิดกฏเกณฑ์พื้นฐานระหว่างประเทศอย่างรุนแรง
รวมทั้งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดังนั้น ทางรัฐบาลจีนจึงขอให้สหรัฐฯ ยุติการตัดสินใจและการกระทำดังกล่าวทันที