ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ครบรอบ 10 ปี คิม จองอึน ครองอำนาจ กับทางเลือกในการปกครองเกาหลีเหนือ


FILE - North Korean leader Kim Jong Un speaks at the Defense Development Exhibition, in Pyongyang, North Korea, in this undated photo released Oct. 12, 2021, by North Korea's Korean Central News Agency.
FILE - North Korean leader Kim Jong Un speaks at the Defense Development Exhibition, in Pyongyang, North Korea, in this undated photo released Oct. 12, 2021, by North Korea's Korean Central News Agency.
North Korea Dilemma
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:15 0:00

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคมนี้จะเป็นโอกาสครบรอบสิบปีซึ่งนายคิม จอง อึนขึ้นครองอำนาจในเกาหลีเหนือหลังจากที่นายคิม จอง อิล ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน และหลังจากที่สามารถรวบรวมและสร้างฐานอำนาจได้สำเร็จซึ่งเป็นผลให้มีผู้ถูกกวาดล้าง ประหารชีวิตและปลดจากตำแหน่งนับร้อยคน

นักวิเคราะห์ชี้ว่านายคิม จอง อึน กำลังมาถึงจุดวิกฤติที่สำคัญ คือจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันตามคำมั่นสัญญา หรือการเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมและปกครองประเทศในระยะยาว

ในฐานะผู้นำซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนรุ่น millennial คนแรกของเกาหลีเหนือ นายคิม จอง อึน กำลังมีปัญหาต่างๆที่รุมเร้าและรอการแก้ไขอยู่หลายด้านด้วยกัน นับตั้งแต่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ ปัญหาโรคระบาดใหญ่ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าหากนายคิม จอง อึน ไม่สามารถทำได้ตามคำมั่นสัญญาเรื่องการพัฒนาทั้งอาวุธนิวเคลียร์และการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยกันแล้ว ความล้มเหลวดังกล่าวก็จะสร้างปัญหาสำหรับโอกาสของการจะมีอำนาจปกครองเกาหลีเหนือต่อไปในระยะยาวได้

ตั้งแต่ปี 2016 ประชาคมระหว่างประเทศได้เพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือหลังจากที่นายคิม จอง อึน เร่งความพยายามผลิตขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งมุ่งเป้าและมีรัศมีทำการครอบคลุมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย และหลังจากที่มีโอกาสและเป็นที่สนใจระดับโลกด้วยการพบปะแบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ในปี 2018 กับ 2019 แต่ไม่สามารถทำให้ได้รับการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการแล้ว

ขณะนี้นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือก็ต้องเผชิญกับปัญหาภายในที่รุมเร้าต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจที่ทรุดหนักลงรวมทั้งจากการปิดพรมแดนค้าขายกับจีนอันเป็นผลมาจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีไบเดนนั้นก็ไม่ได้มีความเร่งรีบที่จะทำข้อตกลงใดๆ กับนายคิม จอง อึน นอกเสียจากว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดและยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งก็เปรียบเสมือนดาบหรืออาวุธสำคัญที่นายคิม จอง อึน เชื่อว่าจะช่วยรับประกันความอยู่รอดของตนได้นั่นเอง

ในช่วงต้นปี 2012 นายคิม จอง อึน ได้ประกาศเป้าหมายเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนอย่างอาจารย์ Park Won Gon ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือของมหาวิทยาลัย Ewha Womans University ในกรุงโซลกล่าวว่าประเด็นเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องเสถียรภาพความมั่นคงของระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือภายใต้การนำของนายคิม จอง อึน นั้นล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งหากประเด็นเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้รับการขบแก้แล้วก็คงเป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจะดีขึ้น และนั่นก็หมายถึงว่ามีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดปัญหาความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและความไม่สงบในสังคมเกาหลีเหนือขึ้นได้

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งคืออาจารย์ Andrei Lankov ของมหาวิทยาลัย Kookmin University ในกรุงโซลกลับมองว่าเกาหลีเหนือจะไม่มีทางยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ดังนั้นประเด็นเดียวซึ่งเกาหลีเหนืออยากจะหารือจะไม่ใช่เรื่องการลดหรือปลดอาวุธนิวเคลียร์แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรการเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า

อาจารย์ Andrei Lankov ยังเชื่อด้วยว่าเกาหลีเหนืออาจได้รับประโยชน์จากการประจัญหน้ากันระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในขณะนี้เพราะเรื่องนี้เป็นการช่วยสร้างคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือสำหรับจีน และในทางกลับกันจีนก็พร้อมจะช่วยให้เกาหลีเหนือรอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิดไปได้ด้วยการสนับสนุนด้านอาหาร เชื้อเพลิง และความช่วยเหลือด้านอื่น ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันให้นายคิม จอง อึน ไม่ต้องรีบกลับคืนสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ ด้วย

ส่วนนักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนืออีกคนคือนาย Go Myong-hyun จากสถาบัน Asan Institute for Policy Studies ในกรุงโซลก็มองว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้สร้างปัญหายุ่งยากและทำให้นายคิม จอง อึนเดินมาถึงจุดนี้

นอกจากนั้นผู้นำเกาหลีเหนือเองก็ได้ใช้นโยบายที่ขัดแย้งกันเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อพยายามเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามนาย Go Myong-hyun เชื่อว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของต่างประเทศซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำนั้นจะยังคงดำเนินต่อไป และการหวนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจแบบควบคุมวางแผนจากส่วนกลางก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับปัญหาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วนายคิม จอง อึน ก็จะต้องตัดสินใจระหว่างทางเลือกที่ยากลำบากว่าจะยังพยายามผลักดันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งอาจต้องแลกกับความล่มสลายทางเศรษฐกิจรวมทั้งการสูญเสียอำนาจการควบคุมได้ และเวลาสำหรับคำตอบเรื่องนี้ก็คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ที่มา: AP

XS
SM
MD
LG