สี จิ้นผิง และวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำจีนและรัสเซีย ได้กลายเป็นจุดสนใจสำคัญในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกลุ่ม G-7 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
รัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่มประเทศ G-7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ได้แสดงความกังวลว่ารัสเซียอาจจะกำลังระดมกองกำลังเพื่อโจมตียูเครน ขณะที่รัฐบาลเครมลินปฏิเสธว่ารัสเซียไม่มีแผนดังกล่าว แต่ได้ขอให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ องค์การนาโต (NATO) รับรองว่านาโตจะไม่ขยายอิทธิพลเข้ามาทางประเทศยุโรปตะวันออก เนื่องจากนาโตมีข้อตกลงที่ให้คำมั่นสัญญาว่า วันหนึ่งประเทศ จอร์เจีย และยูเครน จะได้รับการยอมรับเข้าสู่นาโต
รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกกลุ่ม G-7 ยังสนับสนุนความพยายามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ในการอยู่เคียงข้างยูเครน และยับยั้งไม่ให้รัสเซียโจมตียูเครน ด้วยการขู่ว่าจะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้อย่างรุนแรง
แต่ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับประธานาธิบดีปูตินเป็นความกังวลต่อปัญหาเฉพาะหน้า ‘สี จิ้นผิง’ กลับเป็นชื่อที่รัฐมนตรีทุกคนพูดถึง เพื่อหายุทธวิธีที่จะรับมือกับประธานาธิบดี ที่นับวันยิ่งมั่นใจและองอาจมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจและความแข็งแกร่งทางทหารของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
“ชมรมต่อต้านจีน”?
การผงาดขึ้นเป็นผู้นำโลกอีกครั้งของจีนถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อภูมิศาสตร์การเมืองโลกอย่างสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียดและการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น เพราะจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกและเป็นผู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในหลาย ๆ ด้านจากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและการนำนโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาขึ้นอย่างมากจากเมื่อปี ค.ศ.1979 ซึ่งในขณะนั้นจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่าของอิตาลี
และถึงแม้เจ้าหน้าที่ของประเทศตะวันตกจะชี้ว่ากลุ่มประเทศ G-7 ยังมีอำนาจมหาศาล คือนอกจากจะมีผลผลิตทางเศรษฐกิจรวมกันมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว สามประเทศสมาชิกของ G-7 ยังเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลกด้วย
แต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ จีนซึ่งไม่เคยได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม G-7 ได้กล่าวว่า ขณะนี้ "ประเทศที่ร่วมมือกันในกลุ่มเล็ก ๆ" ไม่ได้ครองโลกอีกต่อไป
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คนหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ที่ประชุมรัฐมนตรี G-7 ที่เมืองลิเวอร์พูลครั้งนี้ยังให้ความสนใจกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีการถกถึงสถานการณ์ในฮ่องกง ในมณฑลซินเจียง และความสำคัญของการดำรงสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความจำเป็นที่จะสนับสนุนประเทศลิธัวเนีย หลังจากที่จีนได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และระงับการให้บริการทางกงสุลชั่วคราวในลิธัวเนีย ที่ยอมให้สำนักงานผู้แทนของไต้หวันเปิดทำการในประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ประเทศ G-7 ต้องการดำเนินการต่อจีนร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการถูกมองว่าพวกเขาเป็น “ชมรมรุมต่อต้านจีน”
ทั้งนี้ ยังมีการพูดคุยกันถึงการร่วมมือกันในกลุ่มประเทศ G-7 เพื่อต่อต้านการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จของประเทศจีน และช่วยเหลือประเทศที่นักวิจารณ์มองว่าติดอยู่ในเครือข่าย “กับดักหนี้สิน” ของจีนอีกด้วย
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บ็อค กล่าวว่า เกี่ยวกับจีนนั้น สมาชิกกลุ่มประเทศ G-7 เห็นตรงกันว่า จีนเป็นหุ้นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโลก แต่ก็เป็นคู่แข่งและคู่ต่อสู้ในเชิงระบบด้วยเช่นกัน