ไบเดนเปิดตัว 'กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก' - ไทยเข้าร่วมด้วย    

Japanese Prime Minister Fumio Kishida, left, U.S. President Joe Biden and Indian Prime Minister Narendra Modi pose for photos as they arrive at the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity launch event at the Izumi Garden Gallery, May 23, 2022, in Tokyo.

ในวันจันทร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศเปิดตัว กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อต้านทานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนี้ และขณะนี้มีมากกว่า 10 ประเทศ แสดงความประสงค์เข้าร่วม รวมทั้งประเทศไทย

ปธน.ไบเดน กล่าวในพิธีเปิดตัว IPEF ที่กรุงโตเกียวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และว่า "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่"

ผู้นำสหรัฐฯ ได้ร่วมหารือผ่านวิดีโอกับบรรดาผู้นำประเทศที่จะเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

IPEF ถูกมองว่า เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแถบอินโด-แปซิฟิกอีกครั้งโดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ หลังจากที่รัฐบาลอเมริกันสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP) เมื่อปีค.ศ. 2017 ที่ต่อมากลายเป็นข้อตกลง CPTPP

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศที่เข้าร่วมใน IPEF มีมูลค่าจีดีพีรวมกันราว 40% ของจีดีพีโลก และว่า "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก คือส่วนหนึ่งของความพยายามของประธานาธิบดีไบเดนในการผลักดันให้ครอบครัวและแรงงานอเมริกันเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ"

ทั้งนี้ กรอบเศรษฐกิจ IPEF ตั้งอยู่บน "เสาหลัก" 4 ประการ คือ เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงถึงกัน, เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็ว, เศรษฐกิจสะอาด และเศรษฐกิจที่ยุติธรรม ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมในส่วนของเสาหลักไหน โดยถูกออกแบบมาให้มี "ความยืดหยุ่น" และ "ความสร้างสรรค์" เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือนี้ นอกจากรายงานสรุปข้อเท็จจริงที่เปิดเผยโดยทำเนียบขาว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่าจะมีการเผยข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ออกมามากขึ้นเมื่อมีการเจรจาในขั้นต่อ ๆ ไป

SEE ALSO: 5 ประเด็นสำคัญต้องจับตามองระหว่างไบเดนเยือนเอเชียสัปดาห์นี้

ทำไมไต้หวันไม่เข้าร่วม?

จุดที่น่าสังเกตคือ ไม่มีชื่อไต้หวันเข้าร่วมในฐานะประเทศสมาชิกลุ่มแรกของ IPEF แม้ว่าที่ผ่านมา ไต้หวันแสดงความสนใจเข้าร่วมและได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะผู้แทนในวุฒิสภาไต้หวัน 52 คนแล้วก็ตาม

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เอกสารการเปิดตัว IPEF ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามจากจีน ซึ่งหมายความว่าหากไต้หวันถูกรวมไว้ในรายชื่อประเทศที่เข้าร่วม จะเป็นเรื่องยากที่จะรวมกลุ่มก้อนของหลายประเทศที่สนใจเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจนี้ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต่างมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ

ด้านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคเธอรีน ไท กล่าวว่า กำลังหารือกับผู้แทนการค้าไต้หวันเรื่องการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ แทน

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ กล่าวไว้ก่อนการเปิดตัว IPEF ว่า กรอบเศรษฐกิจนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ

SEE ALSO: ‘ไบเดน’ จบทริปเยือนเกาหลีใต้ ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจ-ความมั่นคง

เสียงวิจารณ์เรื่องกำแพงภาษี

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้จะไม่มีการลดภาษีหรือเปิดเสรีให้สินค้าจากต่างประเทศเช่นเดียวกับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับก่อน ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศที่เข้าร่วมต้องการ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์และคำถามถึงความสำเร็จของ IPEF เนื่องจากไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้เข้าร่วมซึ่งต่างจากข้อตกลงการค้าเสรี Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า "กรอบเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งนั่นคือข้อดี เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับการเจรจาการค้ายุคใหม่ เพื่อรับมือความท้าทายในปัจจุบัน"

ขณะที่ เจค คอลวิน ประธานสภาการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติ (National Foreign Trade Council) กล่าวกับวีโอเอว่า แม้ IPEF จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี แต่ประเทศที่เข้าร่วมก็สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

คอลวินกล่าวว่า "การเจรจาการค้าผ่าน IPEF คือการเสนอโอกาสในการสร้างแนวทางใหม่สู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากแนวทางที่ประเทศอย่างจีนและรัสเซียใช้อยู่" และแสดงความหวังว่าจะได้เห็นการมีส่วนร่วมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าโลก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในแถบอินโด-แปซิฟิกในขณะนี้ได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ประเมินว่า อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 60% ของประชากรโลก จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกในช่วง 30 ปีข้างหน้า และทำเนียบขาวชี้ว่า ปริมาณการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับมากกว่า 969,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีค.ศ. 2020

  • ที่มา: วีโอเอ