ภารกิจเยือนเกาหลีใต้ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จบลงเมื่อวันอาทิตย์ ด้วยการหารือด้านธุรกิจและความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่การลงทุนระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัทยานยนต์ฮุนไดในสหรัฐฯ และการผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับทวิภาคี
การปรากฏตัวของปธน.ไบเดน เคียงข้าง ชงอุยซัน ประธานบริษัทฮุนได เพื่อเน้นย้ำถึงแผนขยายการลงทุนของบริษัทยานยนต์โสมขาวในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้านรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 5,500 ล้านดอลลาร์ และการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในรัฐจอร์เจีย
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวในโอกาสนี้ว่า “รถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ดีต่อเป้าหมายด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเรา แต่ยังดีต่อการสร้างงาน และดีต่อภาคธุรกิจสหรัฐฯ” ขณะที่ ชง กล่าวว่า บริษัทฮุนไดเตรียมลงทุนอีก 5,000 ล้านดอลลาร์ ในระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ
การลงทุนในรัฐจอร์เจียของบริษัทฮุนได คาดว่าจะเกิดขึ้นใกล้กับเมืองเอลลาเบลล์ จะเพิ่มการจ้างงาน 8,100 ตำแหน่ง และผลิตรถยนต์ได้มากถึง 300,000 คันต่อปี ซึ่งแผนการจะเริ่มต้นได้ในช่วงต้นปีหน้า และเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2025
การลงทุนครั้งใหญ่กับสหรัฐฯ ของบริษัทเกาหลีใต้ เป็นการสะท้อนถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ด้านการทหารที่มีมายาวนานกับสหรัฐฯ เพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่กว้างขวางมากขึ้น ขณะที่ปธน.ไบเดนเอง ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้เป็นวาระสำคัญ ท่ามกลางความท้าทายตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และการบุกยูเครนของรัสเซียที่นำไปสู่การจัดกระบวนทัพด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา
ก่อนการเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐฯ ปธน.ไบเดน ได้เยือนโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์ของบริษัทซัมซุง ที่มีแผนจะทุ่มเงิน 17,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อตั้งฐานการผลิตในรัฐเท็กซัส และเมื่อวันเสาร์ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ จะดึงสหรัฐฯและเกาหลีใต้ให้ใกล้ชิดกันยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา อีกทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ ให้มีความมั่นคงต่อผลกระทบต่างๆ และเปิดทางให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น”
ที่น่าสนใจไม่แพ้ประเด็นเศรษฐกิจ คือ ปธน.ไบเดน ไม่ได้ไปเยือนเขตปลอดทหาร หรือ Demilitarized Zone (DMZ) ซึ่งแบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ออกจากกัน ซึ่งเป็นพิกัดที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องไปเยือนระหว่างภารกิจที่เกาหลีใต้ โดยปธน.ไบเดน เคยไปพิกัดดังกล่าวแล้วเมื่อครั้งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และต้องการไปฐานทัพอากาศโอซานมากกว่า ตามการเปิดเผยของ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ไบเดน
ปธน. ไบเดน เยือนฐานทัพอากาศโอซาน ที่กองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จับตาความเคลื่อนไหวด้านภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ เป็นพิกัดสุดท้ายก่อนมุ่งหน้าสู่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในวันเดียวกันนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งข้อความสำคัญสองอย่างที่สะท้อนถึงวาระในการเยือนเอเชียครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อและความไม่พึงพอใจในตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่คุกรุ่นอยู่ในอเมริกาตอนนี้ ปธน.ไบเดน ได้เน้นย้ำถึงพันธกิจระดับโลกของเขา ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยการโน้มน้าวบริษัทต่างชาติ อย่างฮุนได ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ อีกทั้งยังแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาติพันธมิตรเอเชีย ที่หลบอยู่ภายใต้เงามืดของภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และเกิดความคลาแคลงใจถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ซึ่งเกิดขึ้นมาในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ในประเด็นเกาหลีเหนือ ปธน.ไบเดน ไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการยั่วยุจากเกาหลีเหนือ เช่น การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ หรือ การทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการเยือนเอเชียของปธน.ไบเดน โดยเขากล่าวเพียงว่า “เราได้เตรียมการสำหรับทุกอย่างที่เกาหลีเหนือจะทำไว้แล้ว”
และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าอยากจะกล่าวอะไรกับผู้นำเกาหลีเหนือบ้าง ปธน.ไบเดน ตอบเพียงว่า “สวัสดี จบ” ซึ่งเป็นการลาขาดจากท่าทีของอดีตปธน.ทรัมป์ ผู้เคยกล่าวว่าเขาและผู้นำคิมนั้น “ตกหลุมรัก” กัน หลังจากที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนจดหมายส่วนตัวซึ่งกันและกันมาก่อน
และก่อนหน้านั้นเมื่อวันเสาร์ ปธน.ไบเดน และประธานาธิบดี ยูน ซุก-ยอล ของเกาหลีใต้ ที่เพิ่งรับตำแหน่งผู้นำโสมขาวมาได้ 2 สัปดาห์ ประกาศว่า ทั้งสองประเทศจะพิจารณาการขยายการซ้อมรบระหว่างกันเพื่อต้านทานภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นท่าทีที่สวนทางจากอดีตปธน.ของทั้งสองประเทศที่ผลักดันการเจรจากับเกาหลีเหนือ และผู้นำใหม่ของเกาหลีใต้ กล่าวย้ำว่า จะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้มากกว่าประเด็นด้านความมั่นคง
สำหรับจุดหมายปลายทางต่อไป คือ ญี่ปุ่น ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงโตเกียวแล้วเมื่อวันอาทิตย์ ก่อนจะพบหารือกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ในวันจันทร์ และเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งเป็นความพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจเสรีข้ามแปซิฟิกแทนข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่สหรัฐฯ ถอนตัวไปเมื่อปีค.ศ. 2017 ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์
และในวันอังคาร ผู้นำสหรัฐฯ จะร่วมหารือกับบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกจตุภาคี Quad ได้แก่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งการประชุมกลุ่ม Quad ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือในแถบอินโด-แปซิฟิก ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจจีน เมื่อปี ค.ศ. 2017
ที่มา: เอพี