ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 ประเด็นสำคัญต้องจับตามองระหว่างไบเดนเยือนเอเชียสัปดาห์นี้


President Joe Biden speaks in the Rose Garden of the White House in Washington, May 17, 2022.
President Joe Biden speaks in the Rose Garden of the White House in Washington, May 17, 2022.

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เริ่มกำหนดการเยือนเอเชียในวันพฤหัสบดี โดยจะแวะที่สองประเทศ คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ถือเป็นการเยือนเอเชียครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว

ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ปธน.ไบเดน จะพบหารือกับประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโควิด-19 และการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ผู้นำสหรัฐฯ จะร่วมหารือกับบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกจตุภาคี "Quad" ได้แก่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ, นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี และนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งอาจเป็นนายกฯ คนปัจจุบัน สก็อตต์ มอร์ริสัน หรือคู่แข่ง แอนโธนี อัลบานีส ขึ้นอยู่กับว่าใครชนะการเลือกตั้งในวันเสาร์นี้

การประชุมกลุ่ม Quad ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือในแถบอินโด-แปซิฟิก ขึ้นมาเพื่อคานอำนาจจีนเมื่อปีค.ศ. 2017

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในแถบอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการเยือนเอเชียครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ยังคงมีความสำคัญในอันดับต้น ๆ ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีไบเดน และจีนยังคงเป็นความท้าทายด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด แม้ในขณะที่กำลังเกิดสงครามในยูเครนก็ตาม

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ไบเดน กล่าวว่า ความร่วมมือ "ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก" และ "ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก" กับบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ ในขณะนี้ คือการสร้าง "บูรณาการ" และ "การพึ่งพากันและกัน" ในเชิงยุทธศาสตร์

"ความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของประธานาธิบดีไบเดนในการร้อยเรียงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกันนั้น จะกลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้" ซัลลิแวนกล่าว

จับตามอง 5 ประเด็นสำคัญระหว่างไบเดนเยือนเอเชีย

1. การคานอำนาจจีน

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปธน.ไบเดนจะใช้โอกาสนี้ในการยืนยันพันธะกิจของสหรัฐฯ ในการทำให้แถบอินโด-แปซิฟิก เสรีและเปิดกว้าง และใช้วิกฤติในยูเครนเป็นตัวอย่างว่าการใช้กำลังทหารเพื่อเปลี่ยนสถานะของประเทศใดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ทั้งในเอเชียและยุโรป

โรเบิร์ต ดาลีย์ ผอ. Kissinger Institute on China and the United States ของ Wilson Center กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีแรงสนับสนุนไต้หวันมากมายทั่วภูมิภาคนี้ พร้อมกับการแสดงศักยภาพของพันธมิตรที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ในลักษณะเดียวกับความร่วมมือของสหรัฐฯ กับยุโรปในสงครามยูเครน

นอกจากนี้ ประเทศจตุภาคีกลุ่ม Quad จะหารือกันเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และการจัดทำข้อตกลงด้านความมั่นคงฉบับล่าสุดระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจีนอาจตั้งฐานทัพในน่านน้ำที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ และสร้างภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อออสเตรเลียที่มีพรมแดนทางทะเลติดกับหมู่เกาะโซโลมอนได้

ชาร์ลส เอเดล แห่ง Center for Strategic and International Studies กล่าวกับวีโอเอว่า การพัฒนาของกองทัพจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กดดันให้ประเทศในกลุ่ม Quad ต้องเร่งพัฒนากองทัพของตนเช่นกัน และการที่จีนทุ่มงบประมาณลงไปในด้านกลาโหมก็ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และไต้หวัน ต่างเพิ่มการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ด้วย

What to Expect From Biden’s Trip to Asia
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:39 0:00

2. แนวร่วมต่อต้านรัสเซีย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปธน.ไบเดน จะพยายามหาแนวร่วมในเอเชียเพื่อเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จากการรุกรานยูเครน

ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรเข้มแข็งที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย ได้ใช้มาตรการลงโทษทางการเงินและการส่งออกต่อรัฐบาลรัสเซีย รวมทั้งลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ยูเครน นอกจากนี้ยังร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับอังกฤษเพื่อให้สามารถส่งทหารไปร่วมฝึกและซ้อมรบกับอังกฤษได้

ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดหาความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนและสนับสนุนให้ประชาคมโลกใช้มาตรการลงโทษต่อรัสเซีย แต่มิได้ประกาศลงโทษโดยตรง แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ได้รับปากไว้ว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจหมายถึงการเปิดโอกาสให้ปธน.ไบเดน ขอความสนับสนุนจากเกาหลีใต้ในเรื่องที่เกี่ยวกับยูเครนได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไม่ว่าผู้มัครคนใดจะชนะการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ทั้งคู่ต่างมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อยูเครนและรัสเซียที่ใช้อยู่ในขณะนี้ คือการจัดหาความช่วยเหลือด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการลงโทษรัสเซีย

สำหรับอินเดียนั้นค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นที่กล่าวมาในประเด็นรัสเซีย อพาร์นา พันเด ผอ. Hudson Institute's Initiative on the Future of India and South Asia ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่ายังไม่สามารถกดดันอินเดียมากเกินไปในเรื่องนี้ เนื่องจากอินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และเป็นคู่แข่งสำคัญของจีนในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวกับวีโอเอว่า การที่อินเดียระงับการเจรจาซื้อเฮลิคอปเตอร์ 10 ลำจากรัสเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสงครามในยูเครน อาจเปิดโอกาสให้กลุ่ม Quad โน้มน้าวรัฐบาลอินเดียให้มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อรัสเซียมากขึ้นได้

3. กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

ที่กรุงโตเกียว ปธน.ไบเดน มีกำหนดเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งเป็นความพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจเสรีข้ามแปซิฟิกแทนข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่สหรัฐฯ ถอนตัวไปเมื่อปีค.ศ. 2017 ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

อย่างไรก็ตาม การจัดทำกรอบเศรษฐกิจ IPEF นี้ยังต้องมีการหารือกันอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะนำมาบังคับใช้ นอกจากนี้ คาดกันว่า IPEF จะยังไม่แตะเรื่องการยกเลิกกำแพงการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เช่น มาตรการลดภาษีหรือการเปิดตลาดสินค้าอย่างเสรี เนื่องจากบรรดาเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ และสมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐสภา ยังคงเกรงว่าการเปิดตลาดอเมริกาเพื่อรับสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อคะเนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมช่วงปลายปีนี้ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าประเด็นนี้ทำให้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในแถบเอเชียยังคงขาดอิทธิพลและแรงจูงใจเมื่อเทียบกับจีน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ใช้วิธีเลือกประเทศที่จะเข้าร่วมกับ IPEF โดยให้อำนาจประเทศสมาชิกในการเข้าร่วมเฉพาะในส่วนของมาตรฐานจำเพาะที่ประเทศนั้นสนใจและเห็นว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม รวมทั้ง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

FILE - In this Sept. 16, 2020, file photo, U.S. and South Korean soldiers stand guard during an official visit to Panmunjom in the Demilitarized Zone, South Korea.
FILE - In this Sept. 16, 2020, file photo, U.S. and South Korean soldiers stand guard during an official visit to Panmunjom in the Demilitarized Zone, South Korea.

4. วิกฤติเกาหลีเหนือ

ประเด็นความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีและการระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีเหนือ ยังเป็นประเด็นสำคัญในการเยือนเอเชียครั้งนี้ด้วย

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของปธน.ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯ เตรียมพร้อมกับทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการยั่วยุจากเกาหลีเหนือในขณะที่ปธน.ไบเดนเยือนกรุงโซลหรือกรุงโตเกียวด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธรอบใหม่ในช่วงเดียวกับที่มีการประกาศพบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสหลายรายในกรุงเปียงยาง นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจเป็นโอกาสที่ประชาคมโลกจะเสนอความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือเพื่อรับมือการระบาด และนำเปียงยางกลับเข้าสู่การหารือกับสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ มากขึ้น

5. รับมือการระบาดโควิด-19

เมื่อปีที่แล้ว ประเทศจตุภาคีกลุ่ม Quad ประกาศความร่วมมือจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1,000 ล้านโดสให้แก่ประเทศในแถบอินโด-แปซิฟิกภายในปี 2022 โดยคาดว่าในการประชุมที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ กลุ่ม Quad จะหารือกันเรื่องการแก้ปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวซึ่งชะงักงันอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ คาดว่า ปธน.ไบเดน จะหารือกับบรรดาผู้นำในเอเชียเรื่องภาวะโลกร้อน ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และการแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานสินค้า โดยเฉพาะชิปคอมพิวเตอร์ ระหว่างการเยือนเอเชียครั้งนี้ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG