ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนประเทศในเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งย้ำความสนใจทางยุทธศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐฯ


U.S. Secretary of State Anthony Blinken speaks to VOA News in Kyiv.
U.S. Secretary of State Anthony Blinken speaks to VOA News in Kyiv.

Blinken Pacific Trip
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:53 0:00

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกเดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งในวันนี้คือวันจันทร์ ตามเวลาในสหรัฐฯ โดยแผนการเยือนออสเตรเลีย ฟิจิ รวมทั้งการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ฮาวายครั้งนี้อาจมองได้ว่าเป็นเครื่องย้ำเตือนความตั้งใจของสหรัฐฯ ซึ่งยังให้ความสนใจและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ระยะยาวกับภูมิภาคดังกล่าว

โดยจุดเน้นสำคัญสำหรับการเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งแรกในปี 2565 ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนคราวนี้คือการร่วมหารือที่นครเมลเบิร์นกับตัวแทนของอีกสามประเทศที่ร่วมอยู่ในกลุ่มซึ่งเรียกกันว่า the Quad อันประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นเกี่ยวกับเป้าหมายด้านนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน โควิด-19 เพิ่มเติมให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนที่ฟิจิ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีของฟิจิและผู้นำของประเทศอื่นๆ ที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้นั้น ประเด็นนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายด้านความมั่นคงในแปซิฟิกตอนใต้ก็จะได้รับความสำคัญ เพราะขณะนี้มีรายงานว่าจีนกำลังสนใจจะขอปรับปรุงลานบินบนเกาะแห่งหนึ่งของประเทศคิริบาติที่อยู่ห่างจากรัฐฮาวายของสหรัฐฯ เพียงราว 3,000 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

และนายเดเนียล รัสเซลอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่กับสถาบันนโยบายของ Asia Society ได้ตั้งข้อสังเกตว่าขอบข่ายและความรวดเร็วที่จีนพยายามสร้างความสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้นั้นเหมือนเป็นนาฬิกาปลุกที่เตือนให้สหรัฐฯ ต้องเร่งให้ความสนใจกับภูมิภาคดังกล่าวเช่นกัน

และที่รัฐฮาวาย รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ มีกำหนดจะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเกาหลีเหนือที่ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี

การกลับมาเยือนประเทศในย่านเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ผู้นำของจีนกับรัสเซียได้ประกาศระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งเรื่องความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ”อย่างไม่มีข้อจำกัด” เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ และเพื่อสร้างระเบียบความสัมพันธ์โลกขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการนิยามคำว่า”สิทธิมนุษยชน” และ ”ประชาธิปไตย” ตามคำจำกัดความของจีนกับรัสเซียเอง

นายชาร์ล อีเดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกับออสเตรเลียของหน่วยงานคลังสมอง Center for Strategic and International Studies ของสหรัฐฯ มองว่าการเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไปยังออสเตรเลียเพื่อร่วมหารือกับสมาชิกของกลุ่ม the Quad ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในขณะที่สหรัฐฯ กำลังมีวาระสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศจากการประจัญหน้ากับรัสเซียในเรื่องยูเครนนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญรวมทั้งปัญหาท้าทายต่างๆ ที่วอชิงตันยังจะต้องให้ความสนใจกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้อยู่

และถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะกล่าวว่าการสร้างกลุ่มความร่วมมือ AUKUS ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อังกฤษ กับสหรัฐฯ เพื่อช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียและการขยายความร่วมมือของกลุ่มประเทศ the Quad ที่มีสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย กับญี่ปุ่นร่วมเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะแสดงถึงความสนใจมองมายังอินโดแปซิฟิกก็ตาม

แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็ชี้ว่าการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP เดิมซึ่งขณะนี้กลายมาเป็น CPTPP แล้วนั้นได้บั่นทอนบทบาทและความเกี่ยวพันของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลง โดยถึงแม้ประธานาธิบดีไบเดนจะเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าสหรัฐฯ จะเริ่มการเจรจาเรื่องกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกหรือ Indo-Pacific Economic Framework ก็ตาม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนเชื่อด้วยว่าวอชิงตันยังคงลังเลใจที่จะยอมให้ประเทศต่างๆในเอเชียเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯ ได้ตามที่ต้องการ เพราะเกรงว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นผลเสียต่อการสร้างงานและตำแหน่งงานต่างๆ ในสหรัฐเองได้


ที่มา: Reuters

XS
SM
MD
LG