Your browser doesn’t support HTML5
ขณะนี้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังจัดประชุมใหญ่ที่เกิดขึ้นทุก 5 ปี และกลุ่มผู้นำจีนถูกคาดหมายว่าจะส่งสัญญาณถึงท่าทีว่าจะใช้มาตรการแข็งกร้าวหรือผ่อนปรนต่อความขัดแย้งที่จีนมีต่อประเทศคู่กรณีเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ จากการประชุมพรรคครั้งสำคัญนี้
นักวิเคราะห์ฟาบริซิโอ โบซซาโต (Fabrizio Bozzato) แห่งสมาคม Taiwan Strategy Research กล่าวว่า กลุ่มผู้นำจีนน่าจะย้ำถึงนโยบายด้านความมั่นคงทางทะเลเดิมที่มีอยู่ของจีน โดยจีนน่าจะคงยืนตามแนวทางเดิมที่กรุงปักกิ่งมักกล่าวว่าทางการจีนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่าง
ขณะเดียวกัน อาจารย์ดักลาส กิลฟอยล์ (Douglas Guilfoyle) จากมหาวิทยาลัย Monash ที่ออสเตรเลีย กล่าวว่า จีนอาจหยิบยกเนื้อหาของกฎหมายทางทะเลของสหประชาชาติ มาอธิบายจุดยืนของตน วิธีดังกล่าวช่วยให้จีนตีกรอบประเด็นความขัดแย้งโดยการอ้างอิงบรรทัดฐานสากล เพื่อให้ได้รับการยอมรับที่กว้างขวางมากขึ้น
ศาลระหว่างประเทศตัดสินเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ขาดน้ำหนักทางกฎหมาย ซึ่งจีนปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนพยายามเป็นมิตรมากขึ้นกับประเทศคู่พิพาทเรื่องเขตอธิปไตยในทะเลจีนใต้ เช่น บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
นอกจากนั้น อาจารย์ Oh Ei Sun จากมหาวิทยาลัยนานยางแห่งสิงคโปร์กล่าวว่า จีนปรับท่าทีให้อ่อนลงเรื่องการถมพื้นที่ทางทะเลในปีนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนไม่น่าเปลี่ยนแนวทางการทูตที่ดำเนินมา และผลจากที่ประชุมใหญ่พรรคที่เริ่มในวันพุธนี้ อาจเป็นเพียงการรับรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนกรณีสำคัญ เช่น การส่งเรือรบของสหรัฐฯ เข้ามาในน่านน้ำใกล้หมู่เกาะ Paracel ก่อนหน้านี้ เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้ภาษาที่กว้างๆ เห็นได้จากรายงานที่การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในอดีต เช่นเมื่อ 5 ปีก่อน รายงานของประธานพรรคในขณะนั้น ระบุถึง “ความไม่มั่นคงที่เพิ่มมากขึ้น และความวุ่นวายที่มากขึ้นในระบบระหว่างประเทศ” ซึ่งน่าจะหมายถึง สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 2008 ตามการวิเคราะห์ของสถาบัน Hoover แห่งมหาวิทยาลัย Stanford
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน น่าจะได้เป็นผู้นำต่ออย่างแน่นอนที่การประชุมใหญ่ครั้งนี้ และอาจผนึกฐานอำนาจให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย
ดังนั้นจึงน่าติดตามต่อไปว่า อิทธิพลทางการเมืองที่มากขึ้นของประธานาธิบดี สี หลังจากการประชุมพรรคครั้งนี้ อาจนำไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวมากขึ้นหรือไม่เรื่องทะเลจีนใต้
ซึ่งนักวิเคราะห์ ฟาบริซิโอ โบซซาโต ประเมินว่า ประเทศคู่กรณีกับจีนอาจได้เห็นการกลับมาถมทะเลในบริเวณที่มีความขัดแย้งด้านอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้อีกครั้ง
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)