เวลานี้ญี่ปุ่นและอินเดียกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางคานอำนาจของจีนในเอเชีย โดยญี่ปุ่นวางแผนส่งเรือลาดตระเวนไปยังทะเลจีนใต้ เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือในบริเวณนั้น ขณะที่อินเดียก็กำลังร่วมมือกับเวียดนามเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 13 – 14 กันยายน นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ และนายกฯ อินเดีย นเรนธรา โมดี หารือเรื่องการเพิ่มความร่วมมือทางทะเล และในวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้นำทั้งสองคนได้พบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เพื่อพูดคุยเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือในบริเวณทะเลจีนใต้
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าว มีเป้าหมายไปที่การหาทางต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ เพราะแม้ทั้งสองประเทศต่างมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น แต่ที่ผ่านมาทั้งญี่ปุ่นกับอินเดียต่างแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในเอเชีย ทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ขณะนี้อินเดียและญี่ปุ่น อาจกำลังหาทางขายหรือบริจาคอาวุธให้กับประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อเสริมศักยภาพทางทหารของประเทศเหล่านั้น
เมื่อเดือนมกราคม ญี่ปุ่นประกาศว่าจะมอบเรือลาดตระเวน 6 ลำให้กับเวียดนาม เพื่อใช้ในการตรวจตราพื้นที่ทางทะเล และเมื่อเดือนที่แล้ว ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงให้ฟิลิปปินส์กู้เงินเพื่อซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจำนวน 10 ลำ
ขณะเดียวกัน อินเดียกำลังเจรจากับเวียดนาม เพื่อติดตั้งขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง BrahMos ให้กับเวียดนาม ซึ่งทำให้สื่อของทางการจีนออกมากล่าวหาอินเดียว่าพยายามก่อปัญหาในทะเลจีนใต้ และก่อนหน้านี้ อินเดียก็เสนอเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์ให้เวียดนาม เพื่อใช้ในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้ง เรือตรวจการณ์
นอกจากนี้ คุณแอนดรูว์ หยาง แห่งศูนย์ศึกษาด้านนโยบาย Chinese Council of Advanced Policy ในไต้หวัน เชื่อว่า อินเดียและญี่ปุ่นอาจจับมือกันในการส่งเรือลาดตระเวนไปยังทะเลจีนใต้
คุณหยางชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นจะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงจีนว่า ต้องการให้จีนจำกัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ที่ถือเป็นการยั่วยุหรือล่วงล้ำอธิปไตยของบรรดาประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
ก่อนหน้านี้ จีนสร้างความขุ่นเคืองให้กับประเทศต่างๆ ในแถบนี้ ด้วยการสร้างเกาะเทียมในบริเวณหมู่เกาะที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง และยังติดตั้งเครื่องต่อต้านอากาศยานและระบบเรดาร์ไว้ที่เกาะเทียมนั้นด้วย
ด้านศาตราจารย์ Maria Ela Atienza แห่ง University of the Philippines Dilliman เชื่อว่า หากความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียเพื่อคานอำนาจจีน เกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นผลดีต่ออินเดียเอง
นักรัฐศาสตร์ผู้นี้บอกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความใกล้ชิดกับจีนและญี่ปุ่น แต่ค่อนข้างเหินห่างกับอินเดีย ดังนั้นรัฐบาลกรุงโตเกียวจึงอาจช่วยประสานความสัมพันธ์เพื่อให้รัฐบาลกรุงนิวเดลีได้รับการยอมรับมากขึ้นในแถบนี้
และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นครั้งนี้
(ผู้สื่อข่าว Ralph Jenning รายงานจากกรุงไทเป – ไต้หวัน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)