Your browser doesn’t support HTML5
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราม
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราม
รายงานของสมาคมอาเซียน ชี้ว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ของ 10 ประเทศในอาเซียน อยู่ที่ระดับ 2,550,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว โดย 24% เป็นการซื้อขายสินค้ากันในหมู่ประเทศแถบอาเซียนเอง
แต่การขยายตัวดังกล่าวนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมตามแนวพรมแดน และยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันของแต่ละประเทศ ในการจัดการปัญหาอาชญากรรมและการก่อการร้าย
คุณ Aldo Lale Demoz รอง ผอ.ของ UNODC กล่าวต่อที่ประชุมด้านความมั่นคงของอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า
“การเชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับส่วนอื่นๆ ของเอเชียและทั่วโลกมากขึ้นนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อการค้าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็นำความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย”
การขยายตัวด้านการค้ายังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ การฟอกเงิน ยาเสพติด สินค้าปลอมแปลง การลักลอบค้าสัตว์ป่า ตลอดจนผู้ก่อการร้าย ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้สามารถเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่งได้ง่ายขึ้น
UNODC ระบุว่าจำนวนเงินจากอาชญากรรมผิดกฎหมายที่หลั่งไหลเข้ามาในแถบอาเซียนในแต่ละปีนั้น อาจสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสูงกว่ามูลค่าจีดีพีของบางประเทศในอาเซียนหลายเท่า
นายสมชาย เสียงหลาย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทย กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอาเซียนและความท้าทายด้านความมั่นคง เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือข้ามพรมแดนเพื่อรับมือภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติ
“อาชญากรรมข้ามชาติกำลังคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งรวมถึงปัญหาคอรัปชั่น และการบิดเบือนกลไกตลาดเสรี นอกจากนี้ยังคุกคามความมั่นคงของประเทศต่างๆ ด้วย”
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนที่กรุงมะนิลาเมื่อเดือนที่แล้ว ที่ประชุมได้ตกลงกันให้มีความร่วมมือมากขึ้น เพื่อป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติและภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจบ่อนทำลายการเจริญเติบโตของประเทศในอาเซียน
คุณ Jeremy Douglas ผู้แทนของ UNODC ประจำเอเชียแปซิฟิก เชื่อว่าการประชุมดังกล่าวได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย ซึ่งรวมถึงการลักลอบขนส่งยาเสพติด ลักลอบค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ป่าและของป่าผิดกฎหมาย ตลอดจนการก่อการร้ายข้ามพรมแดน
คุณ Douglas กล่าวด้วยว่า "ประเทศไทยซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญของขบวนการค้ายาเสพติด ได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมตามแนวพรมแดนทางบก ขณะที่ทางทะเล ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยควบคุมตามท่าเรือสำคัญใน 8 ประเทศของอาเซียน เพื่อตรวจสอบการขนส่งสินค้าผิดกฎหมายทางเรือ"
ผู้แทนของ UNODC ชี้ว่าการลดความแตกต่างด้านการรักษากฎหมายของแต่ละประเทศ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ขบวนการอาชญากรรมไม่สามารถอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายของประเทศนั้นๆ ได้
นอกจากนี้ การดูแลจัดการตามจุดผ่านแดนอย่างมีประสิทธิภาพ คือหนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุด ในการสร้างชุมชนแห่งความมั่นคงในแถบอาเซียนขึ้นมา
(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)