Your browser doesn’t support HTML5
หมู่เกาะซวาลบาร์ด (Svalbard) ของประเทศนอร์เวย์ ตั้งอยู่ด้านเหนือของ วงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) เเละในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาว พระอาทิตย์ยังจะไม่ขึ้นเหนือระดับเส้นขอบฟ้าอีกนานสามสัปดาห์
เเต่ปรากฏว่า เเผ่นน้ำเเข็งเริ่มละลายตัวเเล้ว คลื่นทะเลที่ถาโถมซัดฝั่งของหมู่เกาะเพียงไม่กี่ปีีแล้วเคยเยือกแข็ง รถสโนว์โมบิลหลายคันติดอยู่ในน้ำโคลนที่เกิดจากหิมะที่ละลาย
ในช่วง 30 กว่าวันที่ผ่านมา อุณหภูมิได้เพิ่มสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียสกว่าระดับปกติ เเละข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศชี้ว่า ระดับอุณหภูมิในขั้วโลกเหนือได้เพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับจุดเยือกเเข็งเเล้ว
อเล็ค เพ็ทที้ (Alek Petty) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศโลกแห่งองค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือ นาซ่า กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า เคยเกิดภาวะที่อุณภูมิในช่วงฤดูหนาวในขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้นมาก่อน เเต่พบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดบ่อยมากขึ้น เเละเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่าเดิม เเละยังมีความรุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย
สภาพอากาศที่อุ่นเเละมีความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าไปในขั้วโลกเหนือ ในขณะเดียวกันปริมาณแผ่นน้ำเเข็งที่ปกคลุมผิวหน้าทะเลก็อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดตั้งเเต่เริ่มมีการบันทึกมา
บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในบริเวณขั้วโลกเหนือกำลังอุ่นมากขึ้นกว่าเดิม เร็วขึ้นสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยของทั่วโลก
ศาสตราจารย์ จี.ดับบลิว.เค. มัวร์ เเห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ (Professor G.W.K. Moore) กล่าวว่า มหาสมุทรได้เก็บกักความร้อนไว้ในปริมาณมาก เเละทันทีที่แผ่นน้ำเเข็งบนผิวหน้าทะเลหมดไป ความร้อนในน้ำทะลจะเปลี่ยนถ่ายไปอยู่ในชั้นบรรยากาศ เเละเชื่อว่าระดับความกดอากาศต่ำในชั้นบรรยากาศโลกนี้ กำลังได้รับความร้อนเข้าไปเพิ่มเติม
สภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นของขั้วโลกเหนือเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติทั่วยุโรป ระดับอุณหภูมิในเยอรมนีได้ลดลงไปอยู่ติดลบ 27 องศาเซลเซียส ในขณะที่สภาพอากาศหนาวเย็นจัดในยูเครนทำให้เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าดับ และหิมะตกในกรุงโรม ปกคลุมโคลอสเซียมเเละอ่าวเนเปิลส์จนขาวโพลน
พายุหิมะที่มีต้นกำเนิดในไซบีเรียตกหนักในอังกฤษ ซึ่งประสบกับสภาพอากาศที่หนาวจัดที่สุดในรอบ 26 ปี ทำให้ประชาชนหลายร้อยคนติดอยู่ในรถยนต์ระหว่างการเดินทางในสก็อตเเลนด์ โรงเรียนหลายพันแห่งปิดเเละสนามบินหลายเเห่งยกเลิกเที่ยวบิน หิมะที่สูงถึง 90 เซ็นติเมตรเเละอุณหภูมิติดลบกว่า 10 องศาเซลเซียส ทำให้ทางการในอังกฤษ สก็อตเเลนด์เเละไอร์เเลนด์ออกคำเตือนถึงสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด แนะนำให้ประชาชนให้อยู่กับบ้านเพราะอันตรายเกินไปที่จะเดินทาง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ทฤษฎีที่เรียกกันว่า "ขั้วโลกเหนืออุ่น ทวีปต่างๆ หนาวเย็น" (warm Arctic, cold continents) ชี้ว่าลมหนาวที่ไหลเวียนรอบๆ ขั้วโลกเหนือ ที่ปกติจะเก็บกักความหนาวเย็นเอาไว้ อย่างที่เรียกว่า โพลาร์วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) เริ่มอ่อนเเรงลง ทำให้ดูดเอาอากาศอุ่นกว่าเข้าไปภายในเเล้วปล่อยอากาศที่เย็นจัดออกมาสู่พื้นที่ในบริเวณละติจูดที่อยู่ต่ำกว่า
ผู้เชี่ยวชาญแห่งนาซ่า กล่าวว่า เกิดคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่? ที่การสูญเสียแผ่นน้ำเเข็งบนผิวหน้าของทะเล เเละการอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิอย่างที่เห็นเกิดขึ้นในขั้วโลกเหนือนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอากาศหนาวเย็นจัดในยุโรปมากขึ้น แต่คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบเพราะโชคร้ายที่ยังมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่น้อย
ศาสตราจารย์มัวร์ เเห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ กล่าวว่า ในระดับเหนือพื้นดินขึ้นไป 30 กิโลเมตร ชั้นบรรยากาศโลกที่เรียกว่า ชั้นสตราโตสเฟียร์ อุ่นขึ้นกระทันหัน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อสภาพภูมิอากาศ
เขากล่าวว่า การอุ่นขึ้นอย่างกระทันหันของชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์นี้ ทำให้โพลาร์วอเท็กซ์ ซึ่งเป็นกระเเสลมเเรงที่ไหวเวียนไปทั่วโลกอ่อนแรงลง ทำให้ยุโรปได้รับอิทธิพลจากลมหนาวที่พัดมาจากทิศตะวันออกจากไซบีเรีย
ในระยะสั้น อุณหภูมิที่ลดลงอย่างกระทันหันสร้างปัญหาแก่การเดินทางในยุโรป ทำให้สนามบินหลายแห่งปิดทำการ รถไฟหลายสายหยุดให้บริการ เเละมีการปิดถนนหลายเส้น และในระยะยาว
ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจจะมีความรุนแรงแก่โลกมากกว่าที่คาดคิดเอาไว้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)