ลักษณะทางสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นในซีกโลกเหนือในช่วงสองปีที่ผ่านมา สร้างความสงสัยแก่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ ซึ่งสร้างความผกผันแก่สภาพภูมิอากาศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
Mark Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง National Snow and Ice Data Center (NSIDC) ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด้ กล่าวว่าเขาไม่เคยพบเห็นลักษณะทางสภาพอากาศแบบนี้มาก่อน ศูนย์ NSIDC ทำงานหลายอย่างด้วยกัน ตั้งเเต่ช่วยกองทัพเรือสหรัฐฯ ตรวจหาภูเขาน้ำเเข็งใต้ทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางเรือ ตรวจวัดระดับอุณหภูมิสภาพภูมิอากาศและแผ่นน้ำเเข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้
Mark Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง NSIDC กล่าวว่าปรากฏการณ์ที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อนดังกล่าวนี้ เป็นสภาวะอากาศที่อุ่นขึ้นอย่างมากเป็นระลอกๆ เหนือทะเลอาร์ติก ทำให้ระดับอุณหภูมิในขั้วโลกเหนือจะอยู่เเค่เกือบถึงจุดเยือกเเข็งเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันกล่าวว่า สาเหตุเกิดจากภาวะกระเเสลมกรดหรือ jet stream ที่นำเอาพายุที่มีความรุนแรงจากมหาสมุทรแอตเเลนติก เข้าไปเกิดในขั้วโลกเหนือ
กระเเสลมกรดเป็นแถบกระเเสลมเเรงที่เคลื่อนที่เร็วมากรอบโลก ลมกรดขั้วโลกเป็นลมกรดที่มีความเร็วสูงที่สุด โดยเคลื่อนที่วนไปรอบโลกในระยะ 9 – 12 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล และอาจเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในฤดูหนาวของปีนี้และของปีที่ผ่านมา กระเเสลมกรดขั้วโลกเกิดขึ้นตามปกติ โดยหอบเอาลมร้อนจากเขตร้อนเข้าไปยังขั้วโลกเหนือ ซึ่ง Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง NSIDC กล่าวว่าถือเป็นระบบสภาพอากาศปกติ
แต่ในปีนี้ เขากล่าวว่ากระเเสลมกรดขั้วโลกเเรงขึ้นกว่าเดิมและยังมีพายุรุนแรงผิดปกติหลายหนเกิดขึ้นร่วมด้วย ภาวะเช่นนี้ทำให้อากาศอุ่นขึ้นเป็นระลอก
Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง NSIDC สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าบรรดานักวิจัยกำลังพยายามศึกษาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และเกิดทฤษฎีที่แตกต่างกันเป็นสองค่าย
โดยบรรดานักวิจัยในค่ายแรกเป็นเจ้าของทฤษฎีที่ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการผันแปรทางธรรมชาติเหมือนกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีลโญ่ ที่อาจจะเกิดขึ้นพักหนึ่งเเล้วหายไป แล้วกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นระยะๆ
ส่วนค่ายที่สองแย้งว่า ปรากฏการณ์กระเเสลมกรดขั้วโลกที่รุนแรงขึ้นเกิดจากการหายไปของน้ำเเข็งในทะเลในบริเวณขั้วโลกเหนือ
เเละถ้าหากทฤษฎีที่สองนี้ถูกต้อง คุณ Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง NSIDC สหรัฐอเมริกา ชี้ว่าน่าเป็นห่วง เพราะหากการหายไปของน้ำเเข็งในทะเลขั้วโลกเป็นสาเหตุของลมกรดขั้วโลกที่รุนเเรงขึ้น และลมกรดขั้วโลกที่รุนแรงขึ้นนี้ทำให้เกิดสภาพอากาศที่อุ่นมากขึ้นในบริเวณขั้วโลก ซึ่งจะกลายเป็นผลกระทบในทางลบต่อกันละกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Serreze ผู้อำนวยการเเห่ง NSIDC ชี้ว่าการถกเถียงนี้ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน เพราะปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าใจได้ทันที
เขากล่าวว่า เเม้ว่าจะเกิดสภาพอากาศอุ่นขึ้นเป็นระลอก สภาพอากาศยังคงหนาวเย็นมากในขั้วโลกเหนือ และยังมีการก่อตัวของน้ำเเข็งอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าอาจจะมีน้ำเเข็งไม่มากและไม่หนาเท่าเดิม ซึ่งหมายความว่าขั่วโลกเหนือจะมีแผ่นน้ำเเข็งที่บางกว่าเดิม ทำให้ละลายง่ายขึ้น
ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ทะเลขั้วโลกเหนือปลอดน้ำเเข็งในช่วงฤดูร้อนเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นเมื่อใด อาจจะเกิดขึ้นภายใน 20-30 ปีข้างหน้าก็ได้
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)