ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าสหรัฐฯ จะเจอกับอิทธิพล “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” (Polar Vortex) หรือปรากฎการณ์ "ลมหมุนขั้วโลก" บ่อยขึ้น และน่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อน รวมกับการผกผันของสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ
ผลการวิเคราะห์ของสถาบันด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก มหาวิทยาลัยเเห่งรัฐเมน (University of Maine Climate Change Institute) รายงานว่า ในขณะที่ตอนกลางเเละฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ประสบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นสุดขั้วเเละติดลบจนทำลายสติถิในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนอื่นๆ ของโลกกลับเจอกับสภาพอากาศที่อุ่นกว่าปกติราวครึ่งองศาเซลเซียส เเละขั้วโลกหนือเองก็อุ่นกว่าปกติถึง 3.4 องศาเซลเซียส
โดยปกติเเล้ว อากาศที่เย็นจัดจะถูกกักเอาไว้ในโพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) ซึ่งเป็นลมวนที่เกิดจากลงกำลังเเรงหลายลูก ไหลวนรวมกันในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศในบริเวณขั้วโลกเหนือ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ที่มีกำลังเเรงจะสามารถกักอากาศที่เย็นสุดขั้วเอาไว้ไม่ให้หลุดรอดออกมาจากขั้วโลกเหนือ
จูดาห์ โคเฮน (Judah Cohen) ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุฤดูหนาว เเห่งบริษัท Atmospheric Environmental Research บริษัทวิจัยเอกชนที่ตั้งอยู่ชานเมืองบอสตัน กล่าวว่า หากโพลาร์ วอร์เท็กซ์อ่อนเเรงลง ลมหนาวติดลบจากขั้วโลกเหนือก็จะหลุดรอดออกมา เหมือนกับเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำที่เเตก
โคเฮนกล่าวว่า สภาพอากาศในแคนาดาหรือในรัฐอลาสกา ตลอดจนในไซบีเรีย ไม่หนาวจัดจนทำลายสติถิเเต่อย่างใด เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ มีเเต่สหรัฐฯ เท่านั้น เพราะอากาศที่เย็นจัดที่เล็ดลอดมาจากจาก โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ในขั้วโลกเหนือ พัดลงมาทางใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของสหรัฐฯ ทำให้ฤดูหนาวปีนี้จะหนาวกว่าปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ
นอกจากอากาศจะหนาวกว่าปกติเเล้ว ปรากฏการณ์หนนี้ยังเกิดนานขึ้นอีกด้วย โดยกินเวลานานถึง 10 วัน
เมื่อวันอังคารที่เเล้ว อากาศในเมืองบอสตันหนาวจัดสุดขั้วทำลายสถิตินาน 7 วัน โดยต่ำกว่า 20 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเป็นสถิติที่บันทึกไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
สำนักงานสมุทรศาสตร์เเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีบันทึกอุณหภูมิใหม่รายวันมากกว่า 1,600 ครั้ง ทั้งที่หนาวเท่ากับเเละทำลายสถิติเดิม
สภาพอากาศยังหนาวเย็นสุดขั้วเเละเย็นลงอีกในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เนื่องจากเกิดมหาพายุในมหาสมุทรแอตเเลนติกเเละทะเลเเคริบเบียน ซึ่งบรรดานักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “พายุเฮอร์ริเคนหิมะ'' หรือ "บอมบ์ ไซโคลน'' ที่ก่อให้เกิดลมเเรงเเละคลื่นทะเลขึ้นสูง และน้ำทะเลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณตามแนวชายฝั่ง
เจสัน เฟอร์ทาโด (Jason Furtado) ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาที่มหาวิทยาลัยเเห่งโอกลาโฮมา (University of Oklahoma) กล่าวว่า สำหรับฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจถือได้ว่าหนาวจัดที่สุดในรอบสิบวัน เนื่องจากผลพวงของมหาพายุในมหาสมุทรครั้งนี้
เฟอร์ทาโดตั้งคำถามว่า อะไรเป็นสาเหตุให้ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่บรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังถกเเละศึกษากันในขณะนี้?
เขากล่าวว่า เป็นไปได้ว่าคำตอบอาจจะอยู่ที่ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เเละความผกผันของสภาพภูมิอากาศโลกตามธรรมชาติ
ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ มีความรุนเเรงขึ้น เเต่อาจมีผลให้เคลื่อนตัวมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้สภาพอากาศหนาวจัดมากขึ้น
เฟอร์ทาโดกล่าวว่า อย่าสับสนระหว่างสภาพอากาศที่หนาวผิดปกติที่เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ กับภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานานเป็นปีๆ หรือช่วงหลายสิบปี เเละเกิดขึ้นทั่วโลก
และว่าภาวะอากาศที่หนาวเย็นเพียงหนึ่งสัปดาห์ ไม่ได้หมายความว่าโลกไม่ประสบกับภาวะโลกร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)