จับตา ‘ไบเดน’ เยือน 3 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกสัปดาห์นี้

US President Joe Biden attends the Quad leaders’ Summit in Tokyo on May 24, 2022.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีวาระสำคัญที่ต้องบรรลุในภารกิจ 8 วันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตั้งแต่การกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรอันยาวนานของสหรัฐฯ การสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่เยือนปาปัวนิวกินีในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และการตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในแปซิฟิก

ไบเดนจะเยือนที่ไหนบ้าง?

จุดหมายปลายทางแรก ประธานาธิบดีไบเดน จะเยือนฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี7 โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ในฐานะประเทศเจ้าภาพ เลือกฮิโรชิมาบ้านเกิดของเขาเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นพิกัดในประวัติศาสตร์ยุคสงคราม ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมืองดังกล่าว เมื่อปี 1945

แม้สงครามจะสิ้นสุดไปหลายทศวรรษแล้ว แต่ความสำคัญของฮิโรชิมายังหยั่งรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์ที่รัสเซียได้ข่มขู่มาตลอดว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ส่วนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเกาหลีเหนือก็เดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์วิถีโค้ง และฝั่งอิหร่านเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง

จากญี่ปุ่น ปธน.ไบเดน จะสร้างประวัติศาสตร์ในการเยือนปาปัวนิวกินี เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขยายอิทธิพลด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค

ก่อนจะจบทริปด้วยการเยือนออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดจตุภาคี หรือ Quad ร่วมกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียแอนโธนี อัลบาเนซี (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีอินเดียนเรนทรา โมดิ และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ

Leaders of Quadrilateral Security Dialogue (Quad) from left to right, Australian Prime Minister Anthony Albanese, U.S. President Joe Biden, Japanese Prime Minister Fumio Kishida, and Indian Prime Minister Narendra Modi, pose for photo at the entrance hall

ความเป็นหุ้นส่วนจตุภาคี ได้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในช่วงการรับมือกับคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิต 230,000 คน และนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ปธน.ไบเดนพยายามที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม Quad ให้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสะท้อนความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ภารกิจเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคนี้ จะถือเป็นโอกาสแก่ประธานาธิบดีไบเดน ในวัย 80 ปี ซึ่งเพิ่งประกาศรักษาเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยสอง ให้ได้แสดงศักยภาพว่าเขามีความพร้อมมากพอในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วยเช่นกัน

ประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตาในภารกิจนี้ของไบเดนมีอะไรบ้าง?

การรุกรานยูเครนของรัสเซียและบทบาทอันก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้และบริเวณช่องแคบไต้หวัน จะเป็นประเด็นหลักของปธน.ไบเดนในภารกิจเยือน 3 ประเทศนี้

โดยในเวทีประชุมรัฐมนตรีกลุ่มจี7 เมื่อเดือนที่แล้ว ประเทศสมาชิกทั้งหมดให้คำมั่นในการต่อต้านภัยคุกคามของจีนต่อไต้หวันและประณามรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน รวมทั้งเตรียมการสำหรับ “มาตรการลงโทษที่เข้มข้นขึ้น” ต่อรัสเซีย แต่ในรายละเอียดรวมทั้งความยินยอมพร้อมใจในการดำเนินมาตรการลงโทษของแต่ละประเทศสมาชิกจี7 ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไป

กระชับสัมพันธ์หมู่เกาะแปซิฟิก

การเยือนปาปัวนิวกินีช่วงสั้น ๆ เพื่อพบปะกับผู้นำหมู่เกาะแปซิฟิก จะเป็นโอกาสให้ปธน.ไบเดน ได้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ จริงจังในการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกลดบทบาทความสำคัญจากสหรัฐฯ ไปหลังจากสงครามเย็น และจีนเข้ามาเติมเต็มช่องว่างความสัมพันธ์ที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการเพิ่มความร่วมมือด้านความช่วยเหลือ การพัฒนา และความมั่นคง ซึ่งปธน.กล่าวว่าเขามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางที่เป็นอยู่นี้

เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน ปธน.ไบเดนเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำหมู่เกาะแปซิฟิกที่ทำเนียบขาว พร้อมประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในการช่วยเหลือภูมิภาคนี้ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติและความมั่นคงทางทะเล และคณะทำงานของปธน.ไบเดนยังเปิดสถานทูตในหมู่เกาะโซโลมอนและตองกา รวมทั้งมีแผนจะเปิดสถานทูตในคิริบาตีอีกด้วย

ในภารกิจนี้ ปธน.ไบเดน จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนปาปัวนิวกินีในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เยือนปาปัวนิวกินีมาแล้วเมื่อปี 2018

Papua New Guinea China

‘ไบเดน’ พบปะ ‘โมดิ’

ในโอกาสนี้ ปธน.ไบเดน จะมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันมากมายกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย โดยนายกฯ โมดิได้รับเชิญในฐานะผู้นำนอกกลุ่มจี7 ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดที่ฮิโรชิมาของญี่ปุ่น และจะไปพบปะผู้นำกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ปาปัวนิวกินี จากนั้นทั้งสองจะไปเยือนออสเตรเลียเพื่อประชุมกลุ่ม Quad ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย และหลังจากทริปนี้ ปธน.ไบเดนจะพบกับผู้นำอินเดียอีกครั้ง ในการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของนายกฯ โมดิ ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้

Biden Asia

โดยรวมแล้วถือว่าทริปนี้สะท้อนว่า ‘อเมริกากลับมาแล้ว’ จริงหรือเปล่า?

ระหว่างที่ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมการเยือนแปซิฟิก เขากลับต้องเผชิญปัญหาการเมืองในประเทศในประเด็นการปรับเพดานหนี้ ซึ่งหากไม่มีข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกันได้

ภารกิจเยือน 3 ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เป็นจังหวะที่ปธน.ไบเดนจะเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากประกาศลงชิงชัยในการเลือกตั้งปีหน้า แต่กลับเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ในอเมริกาไม่สู้ดีนัก เพราะมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอเมริกันจะเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

นับตั้งแต่เริ่มต้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ปธน.ไบเดน กล่าวกับผู้นำโลกว่า “อเมริกากลับมาแล้ว” เป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดในการสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรว่าอเมริกากำลังกลับมาในฐานะผู้นำในเวทีโลก สวนทางกับนโยบายต่างประเทศแบบ “อเมริกาต้องมาก่อน” ในยุคอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์

ทว่า ปธน.ไบเดน ได้รับรู้ถึงความกังขาของบรรดาผู้นำโลกที่เฝ้าถามเขาตลอดว่า อเมริกาจะกลับมาได้ “อีกนานแค่ไหน?”

SEE ALSO: การเจรจาเรื่อง 'เพดานหนี้สหรัฐฯ' ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ในท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะทำงานปธน.ไบเดน ได้กล่าวว่า วิกฤตเพดานหนี้ภาครัฐของอเมริกายังคงเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

โดยจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า “มันได้ส่งข้อความที่เลวร้ายให้ประเทศอย่างรัสเซียและจีน ซึ่งไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าโอกาสที่จะมุ่งเป้ามาที่เรื่องนี้พร้อมกับบอกว่า ‘เห็นไหมว่าอเมริกาไม่ได้เป็นหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ อเมริกาไม่ใช่ผู้นำแห่งสันติภาพและความมั่นคงของทั่วโลกเลย’ ”

  • ที่มา: เอพี