ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เปิดทำเนียบขาวต้อนรับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ในวันจันทร์ เพื่อหารือประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หลังจากมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากกรณีการกระทบกระทั่งระหว่างเรือของกองทัพเรือจีนกับเรือฟิลิปปินส์เมื่อเร็ว ๆ นี้
ในระหว่างการหารือห้องทำงานประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Oval Office) ไบเดน ได้ยืนยันกับมาร์กอส จูเนียร์ ว่า “สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นใน พันธกรณีอันแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้าที่จะช่วยปกป้องฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงกรณีทะเลจีนใต้ และเราก็จะเดินหน้าสนับสนุนเป้าหมายการปรับปรุงกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัยขึ้นด้วย”
รอยเตอร์ระบุว่า คำกล่าวของปธน.ไบเดนนี้เป็นการอ้างอิงถึงสนธิสัญญาร่วมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ปี 1951 (1951 Mutual Defense Treaty) อันมีเนื้อหาที่ระบุว่าสหรัฐฯ จะลงมือปฏิบัติการด้วย ในกรณีที่เกิดการโจมตีด้วยอาวุธเข้าใส่กองทัพฟิลิปปินส์
ปธน.มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งเป็นผู้นำฟิลิปปินส์คนแรกในรอบกว่า 10 ปีที่เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ได้เน้นย้ำความสำคัญของสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญาเพียงรายเดียวในภูมิภาคทะเลจีนใต้ที่ “อาจเรียกได้ว่ามีสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลกในเวลานี้”
มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวด้วยว่า “เป็นธรรมดาที่ฟิลิปปินส์จะหันหาหุ้นส่วนสนธิสัญญารายเดียวในโลกที่จะมาช่วยเสริมสร้างและปรับแต่งความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันรวมทั้งบทบาทที่เราต้องเล่นเมื่อเผชิญหน้ากับความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคจีนใต้ เอเชียแปซิฟิกและอินโด-แปซิฟิก”
การเยือนกรุงวอชิงตันเป็นเวลา 4 วันของผู้นำฟิลิปปินส์ มีขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์เพิ่งเสร็จสิ้นการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดของสองประเทศ และกำลังเริ่มการซ้อมรบทางอากาศรอบใหม่ในวันจันทร์ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปีค.ศ.1990
เมื่อต้นปีนี้ ฟิลิปปินส์ตกลงให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงฐานทัพอีก 4 แห่งของฟิลิปปินส์ ในช่วงเดียวกับที่สหรัฐฯ พยายามต้านทานการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนรอบไต้หวันและในทะเลจีนใต้
รอยเตอร์ระบุว่า กรุงวอชิงตันมองฟิลิปปินส์เป็นเหมือนกุญแจสำคัญในการต้านการรุกรานไต้หวันของจีน ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ น่าจะเลือกให้ฟิลิปปินส์เป็นที่ตั้งฐานยิงจรวด ขีปนาวุธและระบบปืนใหญ่ เพื่อต่อต้านการยกพลขึ้นบกโจมตีไต้หวันโดยจีน
เมื่อวันอาทิตย์ ปธน.มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวก่อนเยือนสหรัฐฯ ว่า ตนตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ "ซึ่งไม่ใช่แค่จัดการกับปัญหาในช่วงเวลานี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งสำคัญต่อการเดินหน้าภายใต้ผลประโยชน์หลักของเราด้วย"
ที่ผ่านมา จีนสร้างความขุ่นเคืองให้ฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่องด้วยการขับไล่เรือของกองทัพ เรือลาดตระเวนชายฝั่ง และเรือประมงของฟิลิปปินส์ ออกจากบริเวณน่านน้ำใกล้กับแนวชายฝั่งหลายแห่งของฟิลิปปินส์ซึ่งจีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน
ตั้งแต่ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ได้ยื่นประท้วงทางการทูตต่อทางการจีนไปแล้วมากกว่า 200 ครั้ง รวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน เมื่อผู้สื่อข่าวของเอพีและหลายสำนักข่าวได้ขึ้นไปบนเรือลาดตระเวนของฟิลิปปินส์ บีอาร์พี มาลาปาสกัว (BRP Malapascua) ซึ่งเดินทางไปบริเวณสันทราย เซคันด์ ธอมัส (Second Thomas Shoal) ก่อนที่จะถูกเรือของจีนสกัดไว้ไม่ให้เข้าไปในบริเวณนั้น
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แมทธิว มิลเลอร์ กล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดนี้ว่า "เป็นการย้ำเตือนถึงการละเมิดและคุกคามของจีนต่อเรือฟิลิปปินส์ที่ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตัวเอง สหรัฐฯ ขอให้จีนหลีกเลี่ยงการยั่วยุและการกระทำที่ไม่ปลอดภัย"
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดน และปธน.มาร์กอส จูเนียร์ พบปะกันมาแล้วเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งไบเดนได้กล่าวกับมาร์กอสถึงความประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ แม้ที่ผ่านมาจะมีช่วงที่ความสัมพันธ์ค่อนข้าง "ขรุขระ" บ้างก็ตาม
นอกจากเยือนทำเนียบขาวแล้ว ผู้นำฟิลิปปินส์ยังจะเดินทางไปอาคารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และพบกับคณะรัฐมนตรีและผู้นำธุรกิจอเมริกัน ระหว่างการเยือนอเมริกาครั้งนี้ด้วย
- ที่มา: เอพีและรอยเตอร์