Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม รัฐบาลอังกฤษออกประกาศห้ามผู้โดยสารที่บินตรงเข้าอังกฤษจากหกประเทศ นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโทรศัพท์มือถือ หรือที่มีความยาวกว่า 16 ซ.ม. กว้างมากกว่า 9.3 ซ.ม. และหนาเกินกว่า 1.5 ซ.ม. ติดตัวขึ้นเครื่องบิน
โดยผู้โดยสารจะต้องนำอุปกรณ์ดังกล่าวใส่ในกระเป๋าสัมภาระซึ่งเก็บอยู่ใต้ท้องเครื่องบินแทน
หกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลอังกฤษนี้คือ ตุรกี เลบานอน จอร์แดน อียิปต์ ตูนีเซีย และซาอุดิอาระเบีย
แต่เที่ยวบินตรงเข้าอังกฤษจากประเทศเหล่านี้ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
ในวันก่อนหน้านี้ หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่งของสหรัฐฯ หรือ TSA ได้มีประกาศห้ามในลักษณะเดียวกัน แต่มีรายชื่อสิบสนามบินในแปดประเทศซึ่งต่างจากของอังกฤษ
โดยรายชื่อสนามบินตามประกาศของ TSA นั้น ได้แก่ ท่าอากาศยาน Queen Alia International Airport ในจอร์แดน, Cairo International Airport ของอียิปต์, Ataturk International Airport ในตุรกี, King Abdul-Aziz International Airport และ King Khalid International Airport ในซาอุดิอาระเบีย, Kuwait International Airport ในคูเวต
รวมทั้ง Mohammed V Airport ในโมร็อกโค, Hamad International Airport ในกาตาร์, ท่าอากาศยาน Dubai International Airport ของดูไบ และท่าอากาศยาน Abu Dhabi International Airport ที่กรุงอาบู ดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ตามลำดับ
TSA ของสหรัฐฯ แถลงว่า การระบุชื่อสนามบินทั้งสิบนี้เป็นผลมาจากการประเมินภัยคุกคามที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจมีการเพิ่มรายชื่อสนามบินหรือประเทศอื่นๆ ได้อีกในอนาคต
โดยขณะนี้ยังไม่มีการระบุวันที่ที่จะสิ้นสุดการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่ดังกล่าว ซึ่งก็หมายถึงว่าอาจจะมีผลบังคับใช้อย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
และสายการบินต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ จะมีเวลาจนถึงวันศุกร์ที่ 24 มีนาคมนี้เพื่อปฏิบัติตาม
เท่าที่ผ่านมาหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาวัตถุระเบิดรุ่นใหม่โดยกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ที่อาจหลบเลี่ยงการตรวจจับโดยอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่สนามบินได้
และสื่อมวลชนสหรัฐฯ ก็รายงานด้วยว่า กลุ่มก่อการร้ายอาจสามารถทำระเบิดแบบใหม่ ซึ่งบรรจุอยู่ในแบตเตอรี่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน