สื่อนอกชี้กระแส 'ทักษิณกลับบ้าน' ดังกลบข่าวโหวตนายกฯ รอบใหม่

  • VOA

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อเอเอฟพี ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2019 (แฟ้มภาพ)

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่าจะกลับประเทศไทยในวันอังคารนี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รัฐสภาจะลงมติว่าจะรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทักษิณ วัย 74 ปี คือนักการเมืองไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุดและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงหลัง ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศมานาน 15 ปีหลังถูกรัฐประหาร

การประกาศกลับไทยของทักษิณครั้งนี้มีขึ้นขณะที่กำลังเกิดภาวะชะงักงันในการเมืองไทยมาตั้งแต่จบการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เมื่อพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกสกัดโดยสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารชุดก่อน ทำให้พรรคเพื่อไทยที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของทักษิณ ก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทนด้วยการจับมือกับพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับทหารและรัฐบาลชุดก่อน

แพทองธาร ชินวัตร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พรรคเพื่อไทยประกาศในวันจันทร์ว่า จะจับมือกับ 11 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะทำหน้าที่ตามที่ได้รับปากไว้กับประชาชน รวมถึงการต่อต้านการทุจริต การเพิ่มอัตรารายได้ขั้นต่ำ และแจกเงินดิจิทัล

พรรคเพื่อไทยยังรับปากว่าจะปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จะไม่แตะต้องมาตรา 112 แต่อย่างใด

ทักษิณควบคุมพรรคเพื่อไทยได้ แต่ก็มีอำนาจอื่นที่สามารถควบคุมทักษิณได้เช่นกัน
ผศ. ธิดา ถาวรเศรษฐ์
และเมื่อวันเสาร์ แพทองธารยืนยันว่า บิดาของเธอจะกลับประเทศไทย ณ เวลา 9:00 น. ของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภาจะลงมติว่าจะรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อไปหรือไม่

รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิเคราะห์การเมืองไทย กล่าวกับเอเอฟพีว่า "เขา (ทักษิณ) จะต้องหาหลักประกันความมั่นคงจากคนของตนเองที่จะเข้าไปนั่งในคณะรัฐบาลชุดใหม่" และแม้ความไม่พอใจในทักษิณยังคงมีอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำของไทย แต่ความสำเร็จเหนือความคาดหมายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล "ทำให้คนเหล่านั้นต้องเลือกระหว่างปีศาจสองตน ซึ่งพวกเขาเลือกคนที่น่ากลัวน้อยกว่า"

สำนักข่าวอัล-จาซีรา รายงานผลการสำรวจความเห็นคนไทยที่จัดทำโดยสถาบัน NIDA (National Institute for Development Administration) และเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวกับอัล-จาซีราว่า "การที่ทักษิณกลับมาในวันเดียวกับที่มีการโหวต (นายกฯ) แสดงให้เห็นว่า เขามั่นใจว่าแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียงสนับสนุนในการลงมติรอบแรก"

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า ประชาชนจำนวนมากที่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเพราะไม่ต้องการได้พรรคที่มีความเชื่อมโยงกับทหาร อาจมองว่าการที่เพื่อไทยหันมาจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติถือเป็นการหักหลังความตั้งใจของพวกเขาได้เช่นกัน

เขา (ทักษิณ) จะต้องหาหลักประกันความมั่นคงจากคนของตนเองที่จะเข้าไปนั่งในคณะรัฐบาลชุดใหม่
รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า "นี่คือการต่อสู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่" "คนไทยเปลี่ยนไปแล้ว หลายคนรักทักษิณแต่รักประชาธิปไตยมากกว่า" และว่า "ทักษิณควบคุมพรรคเพื่อไทยได้ แต่ก็มีอำนาจอื่นที่สามารถควบคุมทักษิณได้เช่นกัน"

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าทักษิณจะต้องรับโทษจำคุกนานแค่ไหนเมื่อกลับเข้าประเทศ ซึ่งพรรคพวกของเขาหวังว่าอาจขอให้ทักษิณย้ายไปกักบริเวณในบ้านพักหลังจากรับโทษในเรือนจำเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แม้ว่ายังไม่สามารถรับประกันได้ว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่

กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2015 (แฟ้มภาพ)

กรกช แสงเย็นพันธ์ แห่งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวกับเอเอฟพีว่า "เมื่อทักษิณกลับเข้าประเทศ เขาอาจต้องการการสนับสนุนทั้งจากกองทัพและราชวงศ์" และว่า การตัดสินใจของเพื่อไทยที่จับมือกับขั้วที่เคยอยู่ตรงกันข้ามทางการเมือง ทำให้ทักษิณกลายเป็นที่พอใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและชนชั้นนำ

"สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นทักษิณกลายเป็นเรื่องเก่าในอดีตไปแล้ว แต่กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทักษิณถือเป็นความหวังใหม่ของพวกเขา" กรกชกล่าวกับเอเอฟพี

  • ที่มา: เอเอฟพี รอยเตอร์ และอัล-จาซีรา