รัฐบาลไบเดนเตรียมส่ง 'ระเบิดลูกปราย' ให้ยูเครน

Biden Ukraine Cluster Munitions

สำนักข่าวเอพีรายงานว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนเเห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจที่จะจัดส่งระเบิดลูกปราย หรือ cluster munitions ให้เเก่ยูเครน และคาดว่าจะมีการเเถลงเรื่องนี้ในวันศุกร์

เอพีอ้างแหล่งข่าวหลายคนที่กล่าวว่าสหรัฐฯ เตรียมแถลงว่าจะมีการส่งระเบิดลูกปรายหลายพันลูกให้กับยูเครนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยหลือจากสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าที่อาจสูงระดับ 800 ล้านดอลลาร์ ในการช่วยยูเครนสู้กับรัสเซีย

ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าระเบิดลูกปรายมีประวัติเป็นอาวุธที่สร้างการบาดเจ็บล้มตายให้เเก่พลเรือน

สหประชาชาติเคยเรียกร้องให้ทั้งยูเครนเเละรัสเซียหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่ากระทรวงกลาโหมอเมริกันกล่าวว่าจะให้อาวุธระเบิดที่ลดอัตราความผิดพลาดจากเหตุระเบิดด้าน ซึ่งหวังว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตของพลเรือน

ยุทธภัณฑ์ที่สหรัฐฯเตรียมส่งให้ยูเครนครั้งนี้ยังประกอบด้วยยานเกราะประเภทแบรดลีย์ และสไตรเกอร์ รวมถึงกระสุนหลายชนิด และกระสุนสำหรับเครื่องยิงฮาววิตเซอร์และระบบยิง HIMARS

SEE ALSO: สหรัฐฯ เตรียมส่งมอบกระสุน-จรวดเพิ่มให้ยูเครน

เอพีอ้างอิงข้อมูลเหล่านี้จากเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ไม่ประสงค์จะออกนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดออกสื่อก่อนการเเถลงอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ยูเครนต้องการระเบิดลูกปรายมานาน โดยอาวุธประเภทนี้สามารถสร้างความเสียหายในวงกว้างจากลูกระเบิดชิ้นเล็ก ๆ ที่ถูกปล่อยกระจายออกมาได้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน

เอพีรายงานว่า ยูเครนได้ขอรับความช่วยเหลือที่เป็นระเบิดลูกปราย เพื่อสนับสนุนแผนโต้กลับฝ่ายรัสเซีย ขณะที่กองทัพรัสเซียกำลังใช้ระเบิดลูกปรายในการทำสงครามครั้งนี้เช่นกัน

แหล่งข่าวบอกกับเอพีว่ารัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้ทั้งในบริเวณสนามรบและพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่

SEE ALSO: วิเคราะห์: อาวุธใหม่ 'จรวดติดจีพีเอส' จะเปลี่ยนทิศทางสงครามยูเครนอย่างไร?

ตามข้อมูลของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในบางครั้งระเบิดลูกปรายเป็นสาเหตุของการตกค้างของระเบิดลูกเล็ก ๆ ที่ไม่จุดชนวน โดยอัตราระเบิดด้านอาจสูงถึง 40%

แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันบอกวันพฤหัสบดีว่าระเบิดลูกปรายที่จะส่งให้ยูเครนมีอัตราระเบิดด้านอยู่ที่ไม่ถึง 3% เท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดระเบิดตกค้างที่เป็นภัยต่อพลเรือนน้อยลง

นักข่าวนำประเด็นเรื่องการสนับสนุนระเบิดลูกปรายของสหรัฐฯ ให้กับยูเครน ไปถามเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาเเอตเเลนติกเหนือ พลเอกเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ในวันศุกร์

เขากล่าวว่าองค์การนาโต้ไม่มีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการใช้ระเบิดลูกปราย และระบุว่า เป็นเรื่องของเเต่ละประเทศสมาชิกที่จะตัดสินใจเองในเรื่องนี้

FILE PHOTO: NATO Secretary General Stoltenberg and German Chancellor Scholz attend a news conference, in Berlin

ประเทศทั่วโลกกว่า 120 แห่งลงนามในความตกลงร่วมที่จะไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ส่งต่อ ตลอดจนไม่สะสมระเบิดลูกปราย แต่ประเทศสหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครนไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ลงนามร่วมกันในข้อตกลงดังกล่าว

มาร์ทา เฮอร์ตาโด แห่งสำนักงานด้านมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในวันศุกร์ว่า "การใช้อาวุธดังกล่าวควรยุติลงโดยทันทีและต้องไม่มีการใช้ในที่ใด ๆ ก็ตาม"

สำหรับจุดยืนของเยอรมนี ซึ่งลงนามในความตกลงห้ามใช้ระเบิดลูกปราย สเตฟเฟน เฮเบสไตรต์ โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อนักข่าวที่กรุงเบอร์ลินว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ส่งอาวุธชนิดนี้ให้กับยูเครน ขณะเดียวกันก็เเสดงความเข้าใจถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

  • ที่มา: เอพี