ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘เซเลนสกี’ มั่นใจ การหยุดพักรบมีแต่จะช่วยรัสเซียพร้อมโจมตีมากขึ้น


นายกรัฐมนตรีคายา คัลลัส แห่งเอสโตเนีย ให้การต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่กรุงทาลลินสส์ เมื่อ 11 ม.ค. 2567
นายกรัฐมนตรีคายา คัลลัส แห่งเอสโตเนีย ให้การต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่กรุงทาลลินสส์ เมื่อ 11 ม.ค. 2567

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า การหยุดพักรบในสงครามที่เริ่มต้นจากการรุกรานของรัสเซียมีแต่จะช่วยให้กองทัพมอสโกมีโอกาสจัดหายุทโธปกรณ์มาเสริมกำลังของตน “เพื่อถล่มเราให้ราบคาบ”

ปธน.เซเลนสกี ให้ความมั่นใจในประเด็นการพักรบระหว่างการเยือนประเทศเอสโตเนีย โดยมีการระบุด้วยว่า “การหยุดพักในสนามรบในอาณาเขตของยูเครนไม่ใช่การพักของสงคราม ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสงคราม” และว่า “นั่นจะไม่นำไปสู่การเจรจาทางการเมืองกับสหพันธรัฐรัสเซียหรือกับใครก็ตาม การพักชั่วคราวนี้มีแต่จะเป็นประโยชน์กับสหพันธรัฐรัสเซีย”

ในวันพฤหัสบดี ผู้นำยูเครนยังคงอยู่ที่เอสโตเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางเยือนนานาประเทศในภูมิภาคซึ่งรวมถึงลิทัวเนียและลัตเวียด้วย

ปธน.เซเลนสกี กล่าวเมื่อวันพุธที่กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ว่า กองกำลังยูเครนได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า กองทัพทหารรัสเซียนั้นสามารถถูกหยุดยั้งไว้ได้ แต่รัฐบาลกรุงเคียฟยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างมากจากเหล่าพันธมิตรให้ช่วยส่งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศมาให้เพื่อใช้ในการยิงสกัดโดรนและขีปนาวุธที่รัสเซียเร่งยิงและส่งมาถล่มอย่างหนักอยู่

แต่เซเลนสกีเองก็ยอมรับว่า คลังของประเทศต่าง ๆ ที่สามารถช่วยยูเครนได้นั้นมีอาวุธเหลืออยู่ไม่มาก พร้อมกล่าวว่า “ตอนนี้ (ความสามารถใน)การป้องกันตนเองทั่วโลกก็ประสบภาวะท้าทายมากมายอยู่เช่นกัน”

ในขณะที่สงครามยูเครน-รัสเซียใกล้จะถึงวันครบรอบ 2 ปีอยู่นี้ กรุงเคียฟแสดงความหวังว่า ตนจะสามารถยกระดับความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารของประเทศได้และเดินหน้าโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการผลิตอาวุธทั้งหลายได้

เอสโตเนีย ลิทัวเนียและลัตเวียนั้นต่างเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครนทั้งในด้านการเมือง การเงินและการทหาร และในเวลานี้ หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า ประเทศเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายใหม่ของกรุงมอสโกแล้ว

ทั้งสามประเทศต่างเคยถูกยึดครองและผนวกเข้ากับอดีตสหภาพโซเวียตโดยโจเซฟ สตาลิน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะได้ประกาศอิสรภาพหลังการสลายตัวของโซเวียตในปี 1991 และทั้งหมดได้เข้าร่วมกับกลุ่มนาโต้ในปี 2004 ที่ส่งผลให้ได้รับความคุ้มครองทางทหารจากสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกทั้งหลาย

ประธานาธิบดีเอสโตเนีย อาลาร์ การิส ระบุในแถลงการณ์ว่า “ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายได้ลงมือทำการต่าง ๆ มากมายเพื่อช่วยยูเครน แต่เราจำเป็นต้องทำให้มากกว่านี้ร่วมกันเพื่อว่า ยูเครนจะได้ชัยและผู้รุกรานจะพ่ายแพ้” และว่า “ก็ยังมีความหวังว่า นี่จะเป็นการรุกรานทางทหารครั้งสุดท้ายในยุโรปที่ซึ่งใครบางคนต้องการจะบงการบัญชาเพื่อนบ้านของตนด้วยการใช้ขีปนาวุธ โดรนและปืนใหญ่ ตามอำเภอใจทางการเมืองของตน

แต่ขณะที่ สงครามครั้งนี้ยังเดินหน้าต่อไป เสบียงคลังอาวุธจากชาติตะวันตกให้กับยูเครนกำลังค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ร้องขอให้สภาคองเกรสอนุมัติความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ยูเครนอยู่ ขณะที่ ยุโรปก็ยังไม่สามารถทำตามสัญญาที่จะส่งมอบกระสุนปืนใหญ่จำนวน 1 ล้านลูกภายใน 12 เดือนได้ โดยเพิ่งส่งมอบไปให้ได้เพียง 300,000 ลูกเท่านั้น

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG