รายงานชิ้นใหม่จัดทำโดยองค์กร Nature Climate Change ระบุว่าปัจจุบันประชากรโลกหันไปบริโภคอาหารตามอย่างประเทศตะวันตกมากขึ้น อาหารเหล่านั้นมักใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
สหประชาชาติคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคนภายในปี ค.ศ 2050 ทำให้ต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ความต้องการอาหารประเภทเนื้อสัตว์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประชากรหันไปบริโภคอาหารตามอย่างประเทศตะวันตกมากขึ้น
รายงานหลายชิ้นก่อนหน้านี้เตือนว่า อาหารแบบตะวันตกนั้นเต็มไปด้วยไขมัน น้ำตาลและเกลือ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อหลายโรค เช่นเบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งและโรคอ้วน แต่รายงานชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยองค์กร Nature Climate Change ระบุว่านอกจากผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราแล้ว อาหารเหล่านั้นยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกด้วย
ศาสตราจารย์ Chris Gilligan แห่งภาควิชาชีววิทยาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ร่วมจัดทำรายงานชี้ว่า รายงานชิ้นนี้มุ่งเน้นศึกษาการใช้ที่ดินทางการเกษตร ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งพบว่ายิ่งใช้ที่ดินในการผลิตอาหารมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น เช่นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำที่ดินไปใช้ในการเกษตร ส่งผลให้มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น
ศาสตราจารย์ Gilligan ระบุว่าเมื่อพื้นที่ป่าลดลง ต้นไม้ที่ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงไปด้วย และเชื่อว่านั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การขยายตัวของการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อนำไปใช้เป็นอาหาร ก็ทำให้ก๊าซมีเทนซึ่งมาจากของเสียจากสัตว์เหล่านั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกเช่นกัน รายงานระบุด้วยว่าจำนวนต้นไม้ที่ลดลง ประกอบกับปริมาณก๊าซมีเทนที่สูงขึ้น ทั้งจากมูลสัตว์และจากปุ๋ยที่ใช้ในการเกษตร เป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 80%
ศาสตราจารย์ Chris Gilligan สรุปว่า การตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะเลือกทานอาหารประเภทใด คือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่มีหน้าตาและรสชาดดึงดูดมากกว่าผักผลไม้ การจะโน้มน้าวให้คนทั่วไปลดการทานเนื้อสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือของรัฐบาลในรูปของมาตรการต่างๆ ที่เข้ามาช่วยให้คนเราทานเนื้อสัตว์น้อยลง เช่นการเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับฟาร์มที่ปล่อยมลพิษออกมาปริมาณมาก การประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของการทานผักมากขึ้น ตลอดจนการณรงค์เพื่อลดปริมาณขยะอาหารและส่วนที่สูญเสียในกระบวนการผลิตอาหาร
โครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติหรือ UNEP ประเมินว่า แต่ละปีอาหารที่สูญเสียไปในกระบวนการผลิตเพื่อการบริโภคหรือกลายเป็นขยะอาหาร คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมด หรือราว 1,300 ล้านตันทั่วโลก
รายงานสรุปว่า ปริมาณอาหารเฉลี่ยที่ถือว่าสมดุลทั้งกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น รวมถึงเนื้อแดงไม่เกิน 170 กรัมต่อสัปดาห์และไข่ไก่ 5 ฟองต่อสัปดาห์ รวมกับเนื้อสัตว์ปีกวันละหนึ่งส่วน
รายงานจาก Joe De Capua ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล