ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเด็นสงครามยูเครนยังสำคัญต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ หรือไม่?


แฟ้มภาพ – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พบกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2023 (AP Photo/ Evan Vucci, File)
แฟ้มภาพ – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พบกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2023 (AP Photo/ Evan Vucci, File)

ในขณะที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคน คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังให้ความสนใจด้านนโยบายต่างประเทศกับสงครามในกาซ่า คำถามที่เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ คือประเด็นเรื่องสงครามในยูเครนยังคงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอเมริกาหรือไม่?

ประชาชนหลายพันคนที่เมืองวอฟแชนสก์ ทางภาคเหนือของยูเครน อพยพออกจากเมืองเมื่อต้นสัปดาห์นี้เมื่อมีข่าวว่ากองทัพรัสเซียกำลังยึดเมืองดังกล่าวไว้ได้แล้ว ขณะที่กองทัพยูเครนพยายามโต้กลับการรุกรานของรัสเซีย ด้วยความช่วยเหลือชุดล่าสุดจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้ลงนามรับรองเมื่อเดือนที่แล้ว

หลายเดือนที่ผ่านมา ไบเดนเน้นย้ำหลายครั้งว่า ความช่วยเหลือที่ให้แก่ยูเครนถือเป็นแก่นกลางของนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

ไบเดนกล่าวว่า "หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกมาตอนนี้จะทำให้ยูเครนตกอยู่ในความเสี่ยง ยุโรปจะตกอยู่ในความเสี่ยง และโลกเสรีก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ที่ต้องการทำอันตรายเรายิ่งได้ใจ"

ไบเดนระบุด้วยว่า ข้อความที่ตนต้องการส่งถึงประธานาธิบดีปูตินก็คือ "สหรัฐฯ จะไม่ถอนตัวเด็ดขาด"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปกติแล้วนโยบายต่างประเทศจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผู้มีสิทธิ์แลือกตั้งในสหรัฐฯ

เจมส์ เธอร์เบอร์ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) กล่าวว่า "ประเด็นยูเครนแทบไม่มีผลต่อการลงคะแนนในคูหา เช่นเดียวกับนโยบายต่างประเทศที่มีความสำคัญต่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเพียงไม่ถึง 5% ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรวมถึง จีน พรรคคอมมิวนิสต์จีน การตอบโต้ปูติน และสิ่งที่เกิดขึ้นในกาซ่า"

ด้านอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนมากเกินไปแล้ว และก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยบอกว่า ตนจะไม่ปฏิบัติตามความตกลงของชาติสมาชิกองค์การนาโต้ที่ต้องร่วมกันปกป้องชาติสมาชิกอื่น หากถูกรัสเซียรุกราน

บาร์บารา เพอร์รี นักวิเคราะห์แห่งศูนย์มิลเลอร์ มหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ชี้ว่า สิ่งที่ทรัมป์กล่าวนั้นสอดคล้องกับความกังวลของชาวอเมริกันจำนวนมากเรื่องที่สหรัฐฯ เข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจการของประเทศอื่นมากเกินไป

นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า "การทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายเป็นเวลา 20 ปี และสิ่งที่เรียกว่าสงครามไม่รู้จบ อาจส่งผลให้มีชาวอเมริกันมากขึ้นที่สนับสนุนให้อเมริกาโดดเดี่ยวจากชาติอื่น รวมทั้งนโยบายอเมริกามาก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 รวมทั้งการที่เขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 นี้ด้วย"

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การชุมนุมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านสงครามในกาซ่า ยิ่งนำไปสู่คำถามถึงการจัดสรรงบประมาณของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นในการทำสงคราม

บาร์บารา เพอร์รี จากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า คำถามที่นักศึกษาบางส่วนต้องการคำตอบก็คือ "ทำไมเราจึงทุ่มเงินหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังยูเครนและอิสราเอล? ทำไมเราจึงไม่ใช่เงินเหล่านี้ไปกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายในประเทศ?"

ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.ไมค์ จอห์นสัน จากพรรครีพับลิกัน กล่าวหลังจากผ่านร่างกฎหมายความช่วยเหลือต่างชาติเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะเป็นความช่วยเหลือชุดสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยบอกว่า ตนยินดีส่งอาวุธไปยูเครนมากกว่าส่งชายหนุ่มอเมริกันไปร่วมรบที่นั่น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG